Article
“วัดได้อย่างไร” ว่าสถานการณ์คอร์รัปชัน ดีขึ้นหรือแย่ลง
โดย ACT โพสเมื่อ Feb 04,2020
คุณสมพล เกียรติไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ ให้ความเห็นว่า “สถานการณ์คอร์รัปชันเป็นอย่างไร ดีขึ้นหรือแย่ลง” สามารถวัดได้จาก 3 ปัจจัยคือ 1. พฤติกรรมของคนโกงเป็นอย่างไร 2. ระบบราชการเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน 3. ประชาชนตื่นตัว รังเกียจการโกงและมีส่วนร่วมในการต่อสู้แก้ไขปัญหาเพียงใด ผมเห็นด้วยกับแนวคิดนี้และขอเสนอมุมมองเพิ่มเติม ดังนี้
1. พฤติกรรมของคนโกงเป็นอย่างไร..
หมายถึง มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นหรือลดน้อยลง สร้างความเสียหายให้บ้านเมืองมากแค่ไหน หรือทำกันอุกอาจขนาดไหน คำตอบข้อนี้ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนโดยทั่วไปจึงประเมินจากคำบอกเล่าและผลการดำเนินคดีของ ป.ป.ช.และศาลซึ่งมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง โดยผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ยังมีพฤติกรรมเลวร้ายและไม่มีท่าทีจะทุเลาลงเลย คือ
ก. คอร์รัปชันในระบบราชการ ที่เกิดจากข้าราชการขี้ฉ้อบางคนโดยอาศัยอำนาจหน้าที่และอิทธิพล
ข. คอร์รัปชันโดยผู้มีอำนาจทางการเมือง โดยวันนี้มีหลายกรณีปรากฏเป็นข่าวที่คลุมเครือไปด้วยผลประโยชน์ แต่ก็ยังไม่พบข้อมูลว่า ป.ป.ช. เข้าไปดำเนินการอย่างไรหรือไม่
ค. คอร์รัปชันจากการบิดเบือนกฎหมาย ให้ผิดเพี้ยนไปเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้อง ซึ่งกำลังกลายเป็นแบบอย่างความไร้คุณธรรมและสองมาตรฐาน
2. ระบบราชการเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน..
ทราบกันดีว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้ราชการทำงานและให้บริการประชาชนได้รวดเร็วขึ้น การตรวจสอบย้อนหลังทำได้ง่าย โอกาสที่ใครจะโยกโย้เพื่อเรียกรับสินบนน้ำร้อนน้ำชาจึงน้อยลง แต่อุปสรรคที่ทำให้คอร์รัปชันไม่ลดลงคือ เจ้าหน้าที่ยังมีอำนาจในการใช้ดุลยพินิจกว้างมาก การเปิดเผยโปร่งใสมักถูกสร้างข้อจำกัด ระบบอภิสิทธิ์พวกพ้องยังปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งโดยเฉพาะเมื่อมีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง
ขณะที่หลายหน่วยงานอย่าง กรมทางหลวง กรมชลประทาน กรมศุลกากร ตำรวจ กทม. ยังมีปัญหาใหญ่ที่ไม่ได้รับการแก้ไข
แม้โชคดีที่หลายปีมานี้ ข้าราชการน้ำดีได้มีโอกาสขึ้นทำหน้าที่ตำแหน่งสำคัญๆ ในหลายกระทรวง ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมภายในองค์กรได้พอสมควรเช่นที่กระทรวงพาณิชย์ แต่สิ่งที่จำเป็นและคนไทยอยากเห็นมากคือ การที่ข้าราชการทุกคนมีวัฒนธรรมการทำงานด้วยความซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อหน้าที่ ไม่โกงและไม่ยอมให้ใครโกงชาติบ้านเมือง
มีความพยายามปฏิรูประบบราชการผ่านกฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตอนุมัติฯ มีการออกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบเป็นรูปธรรมจำนวนมากครอบคลุม 4 ช่องทางหลักของการใช้อำนาจโดยมิชอบ คือ การจัดซื้อจัดจ้าง การอนุญาตอนุมัติของทางราชการ การใช้อำนาจใช้ดุลยพินิจ และการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ แต่การบังคับใช้หรือภาคปฏิบัติ “ยังไม่มีประสิทธิภาพ” แถมยังถูกต่อต้านหรือถูกแทรกแซงในหลายกรณี
3. ประชาชนตื่นตัว รังเกียจการโกงและมีส่วนร่วมในการต่อสู้แก้ไขปัญหาเพียงใด..
ในอดีตถือว่าคนไทยอดทนมากกับการฉ้อฉล คดโกง แม้จะรู้เห็นตำตาแต่เลือกที่จะนิ่งเฉย ช่างมัน ธุระไม่ใช่ ชอบแต่คอยเชียร์หรือตำหนิให้คนอื่นลงมือทำอะไรสักอย่าง
แต่หลายปีมานี้คนไทยเข้าใจผลร้ายจากคอร์รัปชันมากขึ้น ตื่นตัว กล้าพูดและจริงจังมาก การเปิดโปงกรณีใหญ่ๆ จึงเกิดขึ้นเป็นระยะอย่างกรณีโกงเงินคนพิการ โกงกองทุนการศึกษา โกงอาหารกลางวันเด็กนักเรียน
กรณีฟาร์มไก่บนที่ดิน สปก. ของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ทำให้เห็นว่า วันนี้คำว่า “คอร์รัปชัน หรือ โกงชาติ” สำหรับคนไทยได้รวมไปถึงพฤติกรรม การใช้อำนาจและตีความกฎหมายอย่างเอารัดเอาเปรียบ สองมาตรฐานหรือไร้คุณธรรมด้วย ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ถูกต้องตามหลักสากล
ทุกวันนี้มีการรวมกลุ่มอย่างหลากหลายของประชาชนและผู้คนในสาขาอาชีพต่างๆ เราได้เห็นคนรุ่นใหม่รวมกลุ่มกันทำโครงการเพื่อสังคม พวกเขากล้าคิดและกระหายที่จะลงมือทำมากขึ้นเพื่อสร้างสังคมปลอดคอร์รัปชัน และด้วยเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่เชื่อว่าในเร็ววันเราจะได้เห็นอะไรดีๆ อีกมากจากพลังเหล่านี้ เพราะนี่คือความหวังเพื่ออนาคตที่ดีของประเทศไทย
มองความจริงและมองอนาคต..
ข้อมูลที่กล่าวมาไม่เคยมีรายงานหรือการวิจัยจากสถาบันไหน ดังนั้นคงต้องถามท่านที่อ่านบทความนี้แล้วมองทั้ง 3 ปัจจัยว่า “ดีขึ้นหรือแย่ลง” อย่างไรครับ
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)