Article

สถานการณ์คอร์รัปชันไทย

โดย ACT โพสเมื่อ Jan 22,2020

 สถานการณ์คอร์รัปชันไทย..

ข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันและกระแสความตื่นตัวของคนไทย ทำให้มั่นใจมากว่า “สถานการณ์การต่อต้านคอร์รัปชัน” กำลังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น คือ โกงยากขึ้น ถูกตรวจจับง่ายขึ้นและถ้าจับได้ก็เอาตัวคนผิดมาลงโทษได้เร็วและมีโทษหนักขึ้น

สำหรับคำถามว่า “คอร์รัปชันมากขึ้นหรือน้อยลงในปีที่ผ่านมา?” เท่าที่รับฟังจากผู้คนหลายวงการทำให้เชื่อว่า การโกงกิน การเรียกรับส่วย – สินบนในบ้านเราไม่ได้ลดน้อยลงเลย คือไอ้พวกที่โกงมันก็ยังโกงกันอยู่ โกงสารพัดรูปแบบมีทั้งรายเล็กรายใหญ่ ส่วนอะไรมากขึ้นหรือน้อยลงแค่ไหนเป็นเรื่องที่ไม่มีใครบอกได้ชัดเจน

อะไรทำให้สถานการณ์การ “ต่อต้านคอร์รัปชัน” มีแนวโน้มดีขึ้น..

หลายปีมานี้ประเทศไทยมีการประกาศใช้มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมจับต้องได้ มากที่สุดนับแต่มีรัฐธรรมนูญ ปี 2540 เป็นต้นมา ประกอบกับหลายปีมานี้คนไทยตื่นตัว และร่วมลงมือต่อต้านคนโกงจริงจังมากขึ้นจนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่และภาคธุรกิจหลากหลายวงการ

ทุกวันนี้เราจึงได้เห็นประชาชนกล้าที่จะเปิดเผยพฤติกรรมฉ้อฉลที่ตนพบเห็นผ่านโซเชี่ยลมีเดีย จนนำไปสู่การสอบสวนดำเนินคดีจำนวนมาก เช่น คดีโกงอาหารกลางวันเด็กนักเรียน โกงเงินช่วยเหลือคนพิการ

สถิติการร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ขณะที่การพิจารณาตัดสินคดีในขั้นตอน ป.ป.ช. และ ศาลคอร์รัปชันก็รวดเร็วมากในหลายปีมานี้

ผลจากการออกกฎหมายใหม่อย่าง พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ ทำให้มีกติกาที่รัดกุมและตรวจสอบง่ายสำหรับทุกหน่วยราชการ การเปิดเว็บไซต์ “ภาษีไปไหน” ทำให้ผู้สื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าไปตรวจสอบการใช้งบประมาณง่ายขึ้น ขณะที่ พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกฯ ทำให้มีการเรียกรับสินบนลดน้อยลง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการบริการประชาชนและคนทำมาค้าขาย พร้อมกันนี้หลายหน่วยราชการได้พัฒนาระบบงานและใช้เทคโนโลยี่สมัยใหม่ให้รวดเร็วและโปร่งใสมากขึ้นเช่น กรมศุลกากร กรมขนส่งทางบก

ที่กล่าวมาล้วนเป็นปรากฏการณ์ที่น่ายินดีและเป็นความหวังในการต่อต้านคอร์รัปชัน

ทำไมคอร์รัปชันยังไม่ลดลง..

“คอร์รัปชันจะลดลงเมื่อข้าราชการทำตามกติกาและไม่ยอมให้ใครทำผิด ขณะที่ภาคประชาชนต้องสามารถติดตาม ตรวจสอบ แสดงความเห็นได้โดยไม่ต้องกลัวใคร เพราะได้รับการปกป้องตามรัฐธรรมนูญ”

แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่ามีหลายเรื่องที่ทำให้ประชาชนผิดหวัง เช่น บ่อยครั้งที่กลไกภาครัฐไม่โปร่งใสตรงไปตรงมา มีการใช้อำนาจและกฎหมายแบบสองมาตรฐาน มีการแทรกแซงการบริหารราชการและองค์กรอิสระแบบทีใครทีมัน การตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระยังไม่ปรากฏ อภิสิทธิ์ชนและพวกพ้องตกเป็นข่าวมัวหมองครั้งแล้วครั้งเล่า

คนมีอำนาจชอบพูดคำว่าโปร่งใส แต่ไม่ชอบเปิดเผยข้อมูล อ้างแต่ว่าเป็นเรื่องความลับของทางราชการหรือสิทธิส่วนบุคคล แม้แต่เอกชนที่มาประมูลงานหรือขอสัมปทานยังไปช่วยปกปิดให้เขาโดยอ้างว่าเป็นความลับทางการค้า

การที่มีนโยบายมีมาตรการ แต่กลไกรัฐไม่เดิน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำไม่รู้ไม่ชี้หรือเฉไฉไป คนมีอำนาจสั่งการก็ไม่กำกับดูแลให้งานเดิน เมื่อไม่มีการปฏิบัติจริงจังก็ไม่มีอะไรสกัดกันคนโกงหรือทำให้ลดลงได้

ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้คะแนนอันดับคอร์รัปชันโลก (CPI) ของไทยไม่กระเตื้องขึ้นเลย

ตัวอย่างแรก เรื่องการป้องกันคอร์รัปชันในหน่วยราชการ ตามมติ ครม. เมื่อ 27 มีนาคม 2561 ที่หัวหน้าหน่วยงานต้องรับผิดด้วยหากเกิดคอร์รัปชันในหน่วยงานของตน ดังนั้นเขาต้องหาทางป้องกันให้รัดกุม และเมื่อมีคนทำผิดหรือถูกร้องเรียนก็ต้องเร่งสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

แต่ผ่านมาเกือบสองปียังไม่เห็นมีใครทำอะไรทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับคนตำแหน่งใหญ่โตหรือคนตำแหน่งเล็กๆ

ตัวอย่างที่สอง การปฏิรูปการให้บริการประชาชนตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ ประกาศตั้งแต่ต้นปี 2558 จากนั้น กพร. ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมหลายประการที่ทันสมัย เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและคนทำมาค้าขายอย่างมาก

แต่ผ่านมาสี่ปี การปฏิบัติในหน่วยงานต่างๆ ยังมีน้อยมาก โดยยกข้ออ้างและข้อขัดแย้งของกฎหมายสารพัด

ตัวอย่างที่สาม รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะของทางราชการให้มากที่สุดเพื่อความโปร่งใส แต่ผู้มีอำนาจและหน่วยงานของรัฐจำนวนมากกลับทำให้ผิดเพี้ยน คือเปิดเผยน้อยลงหรือมีข้อจำกัดมากขึ้น เช่นกรณีของ ป.ป.ช. สตง. และ กกต. ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเพราะเจตนาหรือขาดความเข้าใจกันแน่

จะชนะคอร์รัปชัน ต้องร่วมมือกัน..

สถานการณ์คอร์รัปชันไทยมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้นเพราะความตื่นตัวของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ รวมถึงการที่เรามีมาตรการดีๆ ออกมาหลายอย่าง แต่โดยรวมแล้วคอร์รัปชันยังเป็นปัญหาวิกฤติ ดังนั้นทุกอย่างจะให้ดีขึ้นได้จริงในอนาคตต้องอาศัยความตั้งใจและเร่งลงมือทำร่วมกันให้มากกว่านี้

ดร.มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
22/1/63