Hot Topic!
ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทั้งอาญา-วินัยร้ายแรง อดีตผอ.โรงเรียนสามเสนกับพวก ทุจริตเงิน 'แป๊ะเจี๊ยะ' 1.4 ล้าน
โดย โพสเมื่อ Nov 30,-1
- - ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยพับลิก้า - -
ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ทั้งอาญา-วินัยร้ายแรง อดีตผอ.โรงเรียนสามเสนกับพวก ทุจริตเงิน “แป๊ะเจี๊ยะ” 1.4 ล้าน
เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายวิโรฒ สำรวล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กับพวก กรณีทุจริตเบียดบังเงินบริจาคจากผู้ปกครองในการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษไปเป็นประโยชน์ส่วนตน นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเรื่องจากสำนักงาน ป.ป.ท. เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2560 กรณีกล่าวหานายวิโรฒ สำรวล ผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กับพวก ว่าทุจริตเรียกรับเงินจากผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 2 ราย เพื่อแลกกับการเข้าเรียน โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่ามีมูลจึงได้มีคำสั่งที่ 324/2561 ลงวันที่ 18 เมษายน 2561 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยมีนายวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการการไต่สวนข้อเท็จจริง จากพยานหลักฐานฟังได้ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้ออกประกาศ เรื่อง นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานปีการศึกษา 2560 ลงวันที่ 16 กันยายน 2559 โดยสาระสำคัญของประกาศฯ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวคือ โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงจะมีการรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษได้หลายกรณี เช่น
1) นักเรียนได้คะแนนสอบเท่ากันในลำดับสุดท้าย
2) นักเรียนที่มีข้อตกลงในการจัดตั้งโรงเรียน
3) นักเรียนที่เป็นผู้ยากไร้และด้อยโอกาส
4) นักเรียนที่เป็นบุตรผู้เสียสละเพื่อชาติหรือผู้ประสบภัยพิบัติที่ต้องได้รับการสงเคราะห์ดูแลเป็นพิเศษ
5) นักเรียนโควตาตามข้อตกลงของโรงเรียนคู่สหกิจ หรือ โรงเรียนคู่พัฒนา หรือ โรงเรียนเครือข่าย
6) นักเรียนที่เป็นบุตรข้าราชการครูและบุคลากรของโรงเรียน และ
7) นักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยก็จัดอยู่ในประเภทโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง
ต่อมาในปีการศึกษา 2560 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยได้ออกประกาศ เรื่องการรับนักเรียนประเภทเงื่อนไขพิเศษลงวันที่ 9 มีนาคม 2560 โดยกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณารับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษมี 4 ข้อ คือ 1) ข้อตกลงในการจัดตั้งโรงเรียน 2) บุตรข้าราชการครูและบุคลากรปัจจุบันของโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยและโรงเรียนอนุบาลสามเสน (สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอุปถัมภ์) 3) นักเรียนในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ต่อโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง และ 4) นักเรียนโควตาตามข้อตกลงของโรงเรียนคู่พัฒนา หรือโรงเรียนเครือข่าย
ก่อนมีการประกาศผลการสอบคัดเลือกประจำปีการศึกษา 2560 ผู้ปกครองของนักเรียนจำนวนหนึ่งได้แสดงความจำนงต่อสำนักงานผู้อำนวยการโรงเรียน ฯ ให้พิจารณารับบุตรหลานของตนเข้าเป็นนักเรียนประเภทเงื่อนไขพิเศษ ประเภทนักเรียนในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ต่อโรงเรียน โดยเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ก่อนการประกาศผลการสอบคัดเลือกนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ประเภทเงื่อนไขพิเศษ ประจำปีการศึกษา 2560 นายวิโรฒ สำรวล กับพวก ได้โทรศัพท์ติดต่อผู้ปกครองของนักเรียนที่ยื่นแสดงความจำนงไว้ เพื่อขอคำยืนยันเรื่องการบริจาคเงินให้โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยหลายราย และในวันที่ 5 เมษายน 2560 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยได้ประกาศผลการสอบคัดเลือกนักเรียน เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2560 โดยมีรายชื่อนักเรียนประเภทเงื่อนไขพิเศษ จำนวน 60 ราย
ปรากฎว่ามีผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ประเภทเงื่อนไขพิเศษ จำนวน 6 ราย ได้นำเงินมาบริจาคให้กับโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โดยนายวิโรฒ สำรวล และนายภูสิทธิ์ ประยูรอนุเทพ รองผู้อำนวยการโรงเรียน ได้ร่วมกันรับเงินบริจาคจากผู้ปกครองของนักเรียนจำนวน 6 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,440,000 บาท แล้วนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตน ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2560 สื่อมวลชนได้เสนอข่าวเรื่องผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง เรียกรับเงินบริจาคจากผู้ปกครองของนักเรียนรายหนึ่งจำนวน 400,000 บาท เพื่อให้บุตรของตนได้มีโอกาสได้เข้าเรียน โดยมีคลิปวิดีโอภาพและเสียงประกอบการเสนอข่าว
จากนั้นในวันที่ 20 มิถุนายน 2560 นายวิโรฒ สำรวล จึงได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยยอมรับว่าตนเป็นบุคคลที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้รับเงิน 400,000 บาท ตามที่เป็นข่าวและในวันเดียวกัน นายวิโรฒ สำรวล นายภูสิทธิ์ ประยูรอนุเทพ และนายประเจิน โชติพงศ์กุล ครูชำนาญการพิเศษ (หัวหน้างานรับนักเรียน โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย) ได้ร่วมกันสั่งการให้เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี ฝ่ายบริหารงานบุคคลการเงินและสินทรัพย์ 1 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ออกใบเสร็จรับเงินว่าโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยได้รับเงินบริจาค โดยให้ลงวันที่ย้อนหลัง แต่เจ้าหน้าที่การเงินฯ แจ้งว่าไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินโดยลงวันที่ย้อนหลังได้ บุคคลทั้งสามจึงได้ร่วมกันสั่งให้เจ้าหน้าที่การเงินฯ ออกใบเสร็จรับเงิน โดยสั่งให้ลงวันที่ในใบเสร็จรับเงินเป็นวันที่ 21 มิถุนายน 2560 แล้วนำเงินสดบางส่วนเข้าฝากธนาคารกรุงไทย สาขากระทรวงการคลังตามรหัสศูนย์ต้นทุนของโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ผ่านระบบ GFMIS โดยมีเจตนา เพื่อปกปิดการกระทำความผิดของตน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่าการกระทำของนายวิโรฒ สำรวลกับพวกมีมูลความผิด ดังนี้
1.นายวิโรฒ สำรวล และนายภูสิทธิ์ ประยูรอนุเทพ กรณีรับเงินบริจาคโดยไม่ออกใบเสร็จรับเงิน แล้วเบียดบังเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต แล้วข่มขืนใจเจ้าหน้าที่การเงินฯออกใบเสร็จรับเงินและนำเงินส่งคืนภายหลัง เพื่อปกปิดการกระทำความผิดของตนมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 148 มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 83 มาตรา 90 และมาตรา 91 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 84 วรรคสาม และฐานกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 94 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547
2.นายประเจิน โชติพงศ์กุล กรณีร่วมกันข่มขืนใจเจ้าหน้าที่การเงินฯ ออกใบเสร็จรับเงิน เพื่อปกปิดการกระทำความผิดของตนและบุคคลอื่น มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 86 มาตรา 90 และมาตรา 91 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 84 วรรคสาม และฐานกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 94 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547
ทั้งนี้ การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด