Hot Topic!

กบข.ผนึก 32 นักลงทุนสถาบัน ร่วม 'การระงับลงทุน' หากผิดธรรมาภิบาล

โดย ACT โพสเมื่อ Aug 16,2019

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยรัฐ - -

 

กบข.ผนึกนักลงทุน 32 สถาบัน ลงนาม “การระงับลงทุน” 3 เดือน หากทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์-มีปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล


 

เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2562 นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า กลุ่มนักลงทุนสถาบัน  32 ราย ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวมกันกว่า 10.8 ล้านล้านบาท  ทั้งจากสำนักงานประกันสังคม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน  และบริษัทประกันชีวิต ร่วมกับกบข.ลงนามแนวปฏิบัติ “การระงับลงทุน” (Negative List Guideline) ภายใน 3 เดือน เพื่อยกระดับการลงทุนของประเทศไทยสู่การลงทุนอย่างรับผิดชอบ


ด้าน นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการคณะกรรมการ กบข. กล่าวว่า แนวทางบริษัทที่มีเกณฑ์จะถูกระงับการลงทุนนั้น มี 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก การทำผิดกฎหมายพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่รุนแรง ได้แก่ 1.การปกปิดข้อมูลหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ 2.ซื้อขายหุ้นอย่างไม่เป็นธรรม เช่น ใช้ข้อมูลภายใน ปั่นหุ้น เป็นต้น 3.ผู้บริหารหรือกรรมการทำผิดในเรื่องความไม่โปร่งใสหรือไม่ดำเนินการให้ถูกต้อง 4.การฉ้อฉลหรือทุจริต และ5.ผู้บริหารหรือบริษัทปิดกั้นไม่ให้ผู้ตรวจสอบบัญชีเข้าไปตรวจสอบบัญชี  ส่วนประเด็นที่ 2 คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งส่งผลกระทบทางลบในวงกว้าง  ซึ่งถ้าหากบริษัทใดมีความผิดข้อนี้จะมีการเข้าไปเจรจาก่อน โดยทางสถาบันต่างๆ จะจัดประชุมร่วมกันว่ามีผลกระทบรุนแรงหรือไม่และจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร เช่น การใช้แรงงานเด็ก เป็นต้น


“ถ้าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ชี้ว่า บริษัทนี้มีปัญหา ในเบื้องต้นสถาบันต่างๆ จะร่วมเข้าไปแก้ไข แต่ถ้าบริษัทนั้นถูกศาลชั้นต้นพิพากษา สถาบันต่างๆ จะหยุดการซื้อหุ้นเพิ่มทันที โดยความผิดทั้งหมด จะไม่นับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต นับแต่สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนี้ ส่วนบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดีอยู่แล้ว อาจได้รับเงินลงทุนเพิ่มจากกองทุนที่จะมีการตั้งขึ้นมาระหว่าง 32 สถาบัน” เลขาธิการคณะกรรมการ กบข. กล่าว


นายวิทัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการลงนามร่วมกันระหว่างสถาบันลงทุน เรื่องการระงับลงทุนนี้ ซึ่งจะยึดให้เป็นเกณฑ์ปฎิบัติในเวลาที่บริษัทใดก็ตามทำผิดกฎหมาย หรือทำผิดเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมมาภิบาล ส่วนขั้นตอนไปคือหวังว่าแนวปฎิบัตินี้จะครอบคลุมมากขึ้น เช่น การบังคับใช้เร็วขึ้น เป็นต้น และนักลงทุนสถาบันรายอื่นที่ยังไม่เข้าร่วมจะเข้ามาลงนามมากขึ้น


ขณะที่ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนจะต้องดำเนินการอย่างรับผิดชอบ มุ่งรักษาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และการลงทุนจะต้องไปเป็นตามการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุน (I Code) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ลงทุนสถาบันปฎิบัติตามกฎ I Code อยู่ถึง 32 แห่ง มีสินทรัพย์รวม  9.4 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็น 61% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)


ส่วน นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกิตติมศักดิ์สมาคมบริษัทจัดการกองทุนและประธานอนุกรรมการนโยบาย ESG และCollective Action สมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกของโลกที่พร้อมใจจะไม่ลงทุนบริษัทที่ดำเนินธุรกิจขัดหลัก ESG ในส่วนของบลจ.นั้น มาลงนามครั้งนี้ 22 แห่ง จากทั้งหมด 23 แห่ง  มีสัดส่วนการลงทุนถึง 99% ของนักลงทุนสถาบัน สำหรับรายชื่อนักลงทุนสถาบันที่เข้าร่วมลงนามประกอบด้วย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)  สำนักงานประกันสังคม (สปส)  บลจ. กสิกรไทย (KASSET) บลจ. ไทยพาณิชย์ (SCBAM) บลจ. กรุงไทย (KTAM) บลจ. เอ็มเอฟซี (MFC) เป็นต้น

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw