Hot Topic!
กลุ่มรสนา-จี้ตั้งบรรษัทบิ๊กตู่แจงโต้ทหารคุมน้ำมันส่อระอุ
โดย ACT โพสเมื่อ Mar 29,2017
กลุ่มรสนา-จี้ตั้งบรรษัทบิ๊กตู่แจงโต้ทหารคุมน้ำมันส่อระอุ-ขู่มีม็อบบุกล้อมทำเนียบสนช.ปัดสอดไส้แปะใบแจ้งภาษีหน้าบ้านทักษิณทวง1.7หมื่นล้าน
'พรเพชร'โต้สอดไส้กม.ปิโตรเลียม
ที่รัฐสภาแห่งใหม่ แยกเกียกกาย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. กล่าวกรณี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ ระบุมีกระบวนการสอดไส้เพิ่มมาตรา 10/1 เรื่องตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในร่างพ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.. ที่เตรียมนำเข้าที่ประชุมสนช.วาระ 2-3 ในวันที่ 30 มี.ค.ว่า ไม่มีการสอดไส้ การแก้ไขกฎหมายของกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ยืนยันการประชุมของสนช.ทำอย่างเปิดเผย ไม่มีประชุมลับ เท่าที่ทราบยังไม่ชัดเจนว่าจะตั้งหรือไม่ตั้งเพราะในร่างกฎหมายใช้คำว่า "เมื่อมีความพร้อม" การเสนอเพิ่มหรือแก้ไขเนื้อหาในร่างกฎหมายเป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่กมธ.ทำได้ แต่ถ้าแก้ไขหลักการสำคัญของกฎหมายต้องส่งกลับไปให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ
นายพรเพชรกล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะออกมาเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของที่ประชุมสนช. ไม่ได้หมายความว่าถ้าไม่พอใจแล้วต้องคว่ำกฎหมาย บางครั้งต้องนำไปพูดคุยในที่ประชุมสนช.ว่าจะพบกันครึ่งทางได้หรือไม่ หรือกมธ.อาจยอมถอนประเด็นที่มีปัญหาออกไป ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของที่ประชุมสนช.
สปช.แนะตัดทิ้ง ม.10/1
นายมนูญ ศิริวรรณ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน กล่าวว่า การจัดตั้งบรรษัทเข้ามาในวาระ2 โดยไม่มีการพูดกันในวาระแรก ถือว่าเสนอโดยไม่มีที่มาที่ไป การเสนอเรื่องบรรษัทในการจัดการบริหารทรัพย์สินที่มีมูลค่า 5 แสนล้านบาท ควรมีรายละเอียดประกอบการพิจารณาว่ามีหลักการเหตุผลและข้อดีข้อเสียอย่างไร แต่นี่ลอยเข้ามาเฉยๆ เป็นไปไม่ได้ที่จะให้สนช.พิจารณาเรื่องใหญ่ขนาดนี้โดยไม่มีหลักการและข้อมูลประกอบ หากอยากจะเสนอก็ควรเสนอเป็นพ.ร.บ.ต่างหาก มีข้อดีข้อเสียให้ชัดเจน ไม่ใช่สอดไส้เข้ามา สนช.ควรตัดส่วนนี้ออกไปก่อนเพราะยัดไส้เข้ามา แล้วผ่านเฉพาะเรื่องที่แก้ไขเรื่องสัมปทาน เรื่องแบ่งปันผลประโยชน์
นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตโฆษก กมธ.ด้านพลังงาน สปช. กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับข้อทักท้วงของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เมื่อไม่ได้อยู่ในยุทธศาสตร์ชาติก็ควรจัดทำ พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมาให้ชัดเจน มีรายละเอียดมากกว่านี้ กำหนดนิยามว่าบรรษัทพลังงานแห่งชาติเป็นอย่างไร มีองค์ประกอบอะไร มีมาตราว่าด้วยบรรษัทพลังงานแห่งชาติกี่มาตรา ไม่ใช่มารวมอยู่กับพ.ร.บ.อื่น หรือมากล่าวลอยๆ แค่ไม่กี่ประโยคโดยแปะอยู่ในร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม
กลุ่มพลังงานชี้ขัดหลักนิติบัญญัติ
กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) ออกแถลงการณ์คัดค้านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ แสดงความห่วงใยต่อการดำเนินการที่ผิดหลักการและกระบวนการทางนิติบัญญัติ ในขั้นตอนการแปรญัตติของกมธ.วิสามัญฯ มีกมธ.เสียงข้างน้อยขอแปรญัตติเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้ามาในพ.ร.บ.ฉบับนี้ อันเป็นการละเมิดหลักการที่สนช.ลงมติรับหลักการไว้ในวาระ 1 และการอภิปรายวาระแรกก็ไม่มีสมาชิกคนใดอภิปรายท้วงติงหรือต้องการเพิ่มเติมบทบัญญัติเรื่องนี้ไว้ พร้อมเรียกร้องให้สมาชิกสนช. ใช้วิจารณญาณพิจารณาด้วยความรอบคอบ หากเห็นแก่ความถูกต้องได้โปรดตัดมาตรา 10/1 ออกไปจากร่างพ.ร.บ.นี้ ก็จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ
แถลงการณ์ระบุว่า การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับนโยบายในการบริหารจัดการระบบพลังงานของประเทศ สมควรมีการศึกษาถึงผลดี ผลเสียให้รอบคอบ ไม่ใส่เข้ามาลอยๆ ในร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม โดยไม่มีรายละเอียดรองรับ ถ้าสนช.คนใดต้องการให้จัดตั้งก็ชอบที่จะเสนอเป็น พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรใหม่โดยตรง ที่ควรระบุหลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ พร้อมวิเคราะห์ผลกระทบและรายละเอียดต่างๆ เช่น โครงสร้างองค์กรและงบประมาณที่ต้องใช้ รวมถึงผลการศึกษาทางวิชาการที่สนับสนุนการจัดตั้งบรรษัทว่าจะมีผลดีต่อประเทศชาติอย่างไร เพื่อให้รัฐบาลและสมาชิก สนช. ได้พิจารณากันอย่างรอบคอบจึงจะเป็นขั้นตอนที่ถูกต้อง
นักวิชาการเตือนเจ๊งกับเจ๊ง
นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านพลังงานอิสระ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกมธ.พลังงาน สนช. ที่มีพล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธาน ให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพราะโดยหลักการกฎหมายไม่มีการกำหนดอำนาจและหน้าที่ให้ชัดเจน เป็นการเขียนกฎหมายครอบจักรวาลจะเป็นปัญหาต่อประเทศในอนาคตได้ แค่เห็นมาตรา 10/1 ก็เศร้าใจ ไม่น่ามีตั้งแต่ต้นอยู่ดีๆ จะตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติโดยไม่มีคำอธิบายเลย ไม่รู้ว่าบรรษัทมีอำนาจ หน้าที่บทบาทอะไร ไม่ใช่หลักการเขียนกฎหมายถือว่าสอบตก
นายพรายพลกล่าวว่า ข้อเสนอของกมธ.เรื่องตั้งบรรษัทก็ไม่แตกต่างจากข้อเสนอของคปพ. ที่เรียกร้องให้ตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ หากตั้งบรรษัทที่มีลักษณะผูกขาดอำนาจใดอำนาจหนึ่งแบบนี้ ไม่ว่าจะโดยพวกพ้องเอ็นจีโอหรือนักการเมืองถือเป็นการแทรกแซงที่ทำลายประเทศ มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง สุดท้ายจะกลายความล่มสลาย สร้างความเสียหายตามมาเหมือนเวเนซุเอลาที่มีการทุจริตเรื่องนี้เช่นกัน นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อดีตอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ข้อเสนอจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเหมือนการรวบอำนาจและบทบาทของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในการกำกับดูแลกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเข้าไปอยู่รวมไว้ในหน่วยปฏิบัติการเดียวกับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (ปตท.สผ.) ทำให้มีข้อครหาเรื่องความโปร่งใส ยากต่อตรวจสอบ และเป็นภาระต่องบประมาณ ส่วนตัวเห็นว่าโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่แยกอำนาจและบทบาทออกจากหน่วยปฏิบัติการชัดเจนอยู่แล้วในปัจจุบันมีระบบธรรมาภิบาลที่ดีอยู่แล้ว
คปพ.บี้ตั้ง'บรรษัท'ทันที
ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.การคลัง และนายประกอบ ปริมล เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกันอ่านแถลงการณ์คัดค้านกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
นายปานเทพระบุว่า เนื้อหายังแก้ไขไม่ตอบโจทย์ตามที่ประชาชนเรียกร้อง เพราะแม้จะกำหนดให้มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ มาจัดการเชื้อเพลิงธรรมชาติจริงแต่ไม่ได้กำหนดให้จัดตั้งทันที เท่ากับเปิดช่องให้บริษัทรายเดิมได้ต่อสัมปทานรอบใหม่ อีกทั้งตามระบบแบ่งปันผลผลิตและจ้างผลิตไม่ได้กำหนดให้มีการประมูลอย่างยุติธรรม สุดท้ายจะเกิดช่องว่างการใช้ดุลพินิจเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดิมอยู่ดี ดังนั้นร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่กำลังจะพิจารณาผ่านความเห็นชอบจากสนช.ทำให้เกิดการผูกขาด เอื้อประโยชน์ให้ผู้รับสัมปทานรายเดิม
บี้นายกฯใช้ ม.44 ยกเลิกร่างพ.ร.บ.
"เนื่องจากเห็นว่ากฎหมายทั้งสองฉบับนี้ยังไม่ได้รับฟังเสียงความต้องการที่แท้จริงจากประชาชน เนื้อหาให้อำนาจบุคคลและคณะบุคคลใช้ดุลพินิจแทนหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนอาจก่อให้เกิดช่องว่างในการทุจริต จึงเชิญชวนประชาชนร่วมเข้าชื่อเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านต่อประธาน สนช.ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ บริเวณหน้ารัฐสภา และหากสนช.มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ คปพ.จะยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลและพร้อมปักหลักชุมนุมไปจนกว่า พล.อ. ประยุทธ์ จะใช้มาตรา 44 ยกเลิกร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ อีกทั้งยืนยันว่า คปพ.จะไม่รับตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้นในบรรษัทน้ำมันแห่งชาติอย่างแน่นอน" นายปานเทพกล่าว
นายธีระชัย แถลงกรณี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯคัดค้านถึงเนื้อหาบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ในร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และวิงวอนให้สมาชิก สนช.ลงมติตัดเนื้อหาดังกล่าวออกว่า ตนไม่กังวลว่าจะมีกลุ่มทหารเข้ามาควบคุมบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพราะการให้รัฐจัดการ จะทำให้รัฐและประชาชนได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง 100% จึงไม่อยากให้กังวลว่าทหารจะเข้ามาจัดการเพราะทหารก็น่าจะนึกถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก หากร่างกฎหมายผ่าน ก็ขอเรียกร้องให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นการบริหารและการขายปิโตรเลียมจะถูกส่งมอบให้แก่เอกชน ซึ่งเป็นคู่สัญญาที่จะกลับไปคล้ายกับระบบสัมปทานเดิม ที่จะส่งผลให้ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับเอกชน ไม่ได้ถึงประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนตัวอยากเสนอให้สนช.ไม่ต้องตัดมาตราเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติออก แต่ขอให้แก้ไขให้สามารถจัดตั้งได้ทันที ก่อนจะมีการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ทั้งแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช
'ป้อม'โต้ตั้งบรรษัท-ทหารคุม
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ. ปิโตรเลียม ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของสนช. ถือว่าหมดภาระของรัฐบาลแล้ว ส่วนข้อสังเกตว่ามีการสอดไส้ให้ตั้งบรรษัทน้ำมัน ที่จริงไม่ใช่การสอดไส้แต่เป็นสิ่งที่สนช.เห็นสมควรก็ให้ไปว่ากันในสนช. เพราะเรื่องได้พ้นจากรัฐบาลไปแล้ว สนช.จึงต้องชี้แจงว่ามีอำนาจเพิ่มเติมเนื้อหาในร่างกฎหมายนี้อย่างไร สนช.ไม่จำเป็นต้องถามความเห็นจากครม.
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์หลังประชุมครม.ถึงการเสนอให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้ทหารเข้ามาควบคุมเรื่องพลังงานว่า ไม่จริง คิดไปเอง เป็นไปไม่ได้ และตนไม่มีปัญญาจะทำ กรมพลังงานทหารจะทำได้อย่างไรไม่มีและไม่เคยคิดจะทำด้วย คนคัดค้านอาจเข้าใจผิด และอดีตไม่เคยมีทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงาน เวลานี้มาไกลแล้วและไม่ได้ย้อนกลับไป ใครที่เรียกร้องบางกลุ่มให้รู้ว่าตอนนี้เป็นบริษัทมหาชนไปแล้ว เรื่องพวกนี้ไม่มีและไม่คิดจะทำอะไรให้เกิดความเสียหาย
บิ๊กตู่แฉกมธ.แก้ตามที่คปพ.กดดัน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุมีกลุ่มทหารเข้ามาแทรกแซงเนื้อหาพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันว่า ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ กฎหมายฉบับนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2557 พยายามจะออกมาก่อนหน้าที่ตนจะเข้ามาด้วยซ้ำแต่ออกไม่ได้ เพราะมีหลายฝ่ายเรียกร้องต่างๆ สมัยรัฐบาลเข้ามาช่วงแรกได้เสนอกฎหมายดังกล่าวเข้ามาพิจารณา นอกจากสัมปทานแล้วให้มีระบบแบ่งปันผลผลิตจึงเสนอกฎหมายไปอย่างนั้นและได้ดำเนินการตามลำดับ มีกลุ่มผู้เรียกร้องกลุ่มคปพ. ซึ่งมีนางรสนา โตสิตระกูล ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และอีกหลายคนพยายามเรียกร้องและเสนอประเด็นต่างๆ มากมาย รัฐบาลก็รับฟัง เมื่อรวบรวมแล้วก็ส่งไปที่สนช. ซึ่งพิจารณาโดยคณะกมธ.พลังงาน
"ทราบมาว่ากมธ.ก็ถูกกลุ่มนี้กดดันอีกว่าต้องมีบรรษัทน้ำมันให้ได้ ผมพูดมาหลายครั้งแล้วว่ายังไม่พร้อมและยังไม่มีความจำเป็น เพราะเรามีบริษัทของเดิมอยู่แล้ว โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่จำนวนมาก เป็นรัฐวิสาหกิจอยู่แล้วจะซ้ำซ้อนกันหรือไม่ เลยให้เป็นหน้าที่ของสนช.พิจารณา ก็ปรากฏว่าฝ่ายนั้นกดดันมาก ครั้งนี้กดดันมาอีกแล้วว่าถ้าออกมาแล้วไม่มีบรรษัทน้ำมันจะมาล้อมรัฐสภา ล้อมทำเนียบ แบบนี้ผมถามว่าถูกต้องหรือไม่ เมื่อเสนออะไรผมก็รับมาและนำข้อเสนอไปให้สนช.พิจารณา ถ้าเขาพิจารณาแล้วไม่เหมาะสมก็ต้องรับกติกา ใช้วิธีกดดันแบบนี้ประเทศชาติเสียหาย เสียประโยชน์ และกลุ่มนี้ก็ยึดโยงไปสู่โรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ด้วยคือทุกที่ในเรื่องพลังงาน ผมก็ไม่เข้าใจ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว ยันไม่เคยคิดดึงทหารนั่งบรรษัท พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนที่มองว่าแอบใส่การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันเพื่อหวังให้ทหารเข้าไปดำเนินการนั้น กรมพลังงานทหารทำหน้าที่นี้ไม่ได้ เขามีหน้าที่จำกัด ไม่ใช่จะมาทำหน้าที่เป็นบริษัทประกอบการธุรกิจ มันทำไม่ได้ ไม่มีใครเขาไปฝันเฟื่องขนาดนั้น เอามาเป็นประโยชน์ของทหาร ไม่มี ขีดความสามารถไม่ถึงและตนก็ไม่ให้ทำอยู่แล้ว ฉะนั้นขอให้เข้าใจตรงนี้ด้วยว่าเป็นข้อเสนอของภาคประชาชนจากหลายเครือข่าย โดยเครือข่ายหลักได้กล่าวนามไปแล้ว เขาเรียกร้องมาทั้งก่อนและหลังวันที่ 22 พ.ค. 2557 ซึ่งกมธ.วิสามัญได้พิจารณาและเคยแถลงเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2559 ว่าภาคประชาชนต้องการให้บรรจุการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันเข้าไปด้วย เมื่อพิจารณาก็ส่งเรื่องให้สนช.รับทราบ และเป็นเรื่องของสนช.ที่จะพิจารณา ถ้าทำได้หรือมีปัญหา ผลประโยชน์ชาติเสียหาย ตนก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะได้ทำเต็มที่แล้ว
นายกฯ กล่าวว่า ตนไม่เคยมีแนวคิดให้ทหารเข้ามาดูแล สิ่งที่รัฐบาลต้องการคือให้พ.ร.บ.ปิโตรเลียมออกมาให้ได้ เพราะต้องดูเรื่องการลงทุนการขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งมีหลายพื้นที่จะต้องทำสัมปทาน ตอนนี้ยังไม่รู้ ไม่ใช่ว่าทำพรุ่งนี้แล้วสร้างหรือเจาะแหล่งพลังงานได้ทันที ต้องใช้เวลาอีก 5-6 ปีกว่าบริษัทเขาจะเริ่มลงทุน ตัดสินใจหาเงินกู้ จึงต้องรีบทำในวันนี้ แต่หลายคนก็ชอบคิดว่าทำไมต้องรีบทำแล้วก็ไม่ทัน หลายประเทศไปลงทุนที่อื่น ไม่มาลงทุนประเทศที่มีปัญหาขนาดนี้เพราะวุ่นวายไปหมด ทั้งที่ข้อมูลพื้นฐานเขารู้ว่าน้ำมันเรามีมากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญเราเองไม่ยอมรับ กลุ่มพวกนี้ไม่เข้าใจ เรื่องนี้จะผิดหรือถูกไม่พิจารณากันมา ตนขี้เกียจยุ่งเกี่ยวด้วยถ้ามันไม่ได้ขึ้นมาก็รับผิดชอบด้วยแล้วกัน
ฮึ่มใช้กฎหมายปราบผู้ชุมนุม
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนก็ไม่รู้เหมือนกันว่าบรรษัทน้ำมันถ้าตั้งมาแล้วใครจะเข้ามาเป็นและใครหวังเข้ามาแต่ไม่ใช่ตนแน่นอน หากคิดว่าเพื่อบรรเทาความขัดแย้งก็จะใส่เข้าไป เพื่อเป็นการเริ่มต้นเมื่อพร้อม ซึ่งไม่พร้อมง่ายๆ ต้องใช้ทุนมหาศาล จะเอาทุนที่ไหน รัฐบาลไม่มีเงินลงทุน ขุดเจาะน้ำมันไม่ใช่ง่ายๆ ไม่ใช่ 5 บาท 10 บาท เมื่อมีปัญหาก็ไปว่ากันมาในสภา อย่ามาสงสัยรัฐบาลหรือทหาร เหตุผลที่มีกมธ.เป็นทหารจำนวนมากเพราะคณะนี้ถูกต่อต้านเยอะ ไม่มีใครกล้าเป็นเพราะโดนกลุ่มนี้ประท้วงมาตลอด มีแต่ทหารเท่านั้นที่เป็นให้ ตนพยายามจะสร้างความชัดเจนเกิดขึ้นให้ได้แต่หากไม่ได้ก็ไม่ได้ ไม่ต้องออกมาก็จบ ไม่ต้องทำอะไร แต่มันจะเสียหายกับบ้านเมืองก็ไปว่ากัน หัดรับผิดชอบร่วมกันบ้าง
"ผมยืนยันหากมาประท้วงอีกผมจะดำเนินการตามกฎหมายเพราะให้อภัยไปหลายทีแล้ว ไม่ใช่เพราะมาขัดแย้งผม ที่ผมต้องดำเนินการตามกฎหมายเพราะท่านทำผิดกฎหมาย ส่วนความคิดเห็นของท่านก็ไปแสดงในช่องทางที่ถูกต้องและยอมรับกฎกติกากันบ้าง วันนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติที่จะอะไรก็ได้กับผมหรือรัฐบาล มันไม่ใช่ ถ้ามันดีมันถูกผมก็รับมาแล้ว กรณีบรรษัทน้ำมันรับมาแล้วยังมีปัญหาเลย ไม่รู้อะไรกันหนักหนา" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
วิปยืนยันถกร่างพ.ร.บ. 30 มี.ค.
เวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานประชุมวิปสนช. เรียกกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมมาชี้แจงประเด็นการเสนอเพิ่มเนื้อหามาตรา 10/1 นายพรเพชร ขอให้ประชุมลับ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ วิปสนช. ประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. ปิโตรเลียม ชี้แจงยืนยันว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้สอดไส้หรือลักไก่เพิ่มเติมเนื้อหามาตรา 10/1 แต่ได้ดำเนินการถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทุกอย่าง มีการขอความเห็นชอบจากครม. ในการขอแก้ไขหลักการของกฎหมาย และได้รับความเห็นชอบจากครม.แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.สกนธ์ ชี้แจงว่า การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการพลังงานในอนาคต อีกทั้งไม่มีการกำหนดเวลาตายตัวว่าต้องตั้งบรรษัทให้เสร็จเมื่อใด คนที่ออกมาคัดค้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนด้านพลังงานและคนที่เสียผลประโยชน์ หลังวิปสนช.ฟังคำชี้แจงเข้าใจและจะนำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าที่ประชุมสนช.เพื่อพิจารณาวาระ 2 และ3 ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ โดยขอให้กมธ.ทุกคนช่วยชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในประเด็นที่เป็นปัญหาให้สมาชิกสนช.เข้าใจ
ยันกมธ.สอบถามครม.2ครั้ง
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิปสนช. แถลงหลังการประชุมว่า กรณีมีข่าวล็อบบี้และผลักดันให้จัดการบรรษัทน้ำมันนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะมีผู้แปรญัตติและสงวนความเห็นหลายคน ไม่ใช่เฉพาะทหาร 6 คน แต่ยังมีตน พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร และกมธ.เสียงข้างน้อยที่เห็นด้วยให้มีบรรษัทน้ำมัน เพื่อเข้ามาบริหารจัดการพลังงาน ซึ่งมีรัฐบาลถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์และเป็นผู้อนุมัติสัญญา กมธ.ชุดนี้แก้ไขตามมติครม.ที่กมธ.สอบถามไปถึง 2 ครั้ง จึงออกมาเป็นมาตรา 10/1 ให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันฯ เมื่อมีความพร้อม ขณะนี้บรรษัทยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน ดังนั้น การกำหนดให้มีบรรษัทโดยไม่ได้ระบุชัดว่าควรมีเมื่อใด ถือเป็นการยืดหยุ่นทั้งฝ่ายที่ต้องการให้มีทันทีกับฝ่ายที่ไม่ต้องการให้มีเลย ส่วนผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับการอภิปรายของสมาชิกสนช.
นพ.เจตน์กล่าวว่า การแทรกมาตรา 10/1 ไม่ขัดต่อหลักการและเหตุผลของร่างพ.ร.บ.ที่ผ่านหลักการ เพราะเพิ่มตามมติครม.ที่สามารถทำได้ ส่วนที่มีการคัดค้านและเสนอให้ตัดมาตราดังกล่าวนั้น ไม่สามารถทำได้เพราะจะเป็นการหักมติครม. สาเหตุที่หลายคนต่อต้านอย่างหนักเพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล ซึ่งอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติระบุถึงตัวเลขว่ารายได้ของสัมปทานปิโตรเลียมมีมากถึง 7 แสนล้านบาท ยืนยันว่าสมาชิกสนช. 6 คนไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ตามที่กล่าวหา แต่ทำตามมติครม.
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ วิปสนช. กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการตั้งบรรษัทเกิดขึ้นได้ยาก เพราะในกฎหมายใช้คำว่าให้จัดตั้งเมื่อมีความพร้อม ซึ่งนิยามคำว่า มีความพร้อมมีความหมายกว้างมาก ดังนั้น คงเกิดขึ้นได้ยากกว่าการตั้งโรงไฟฟ้าเสียอีก เชื่อว่า 100 ปีก็จัดตั้งไม่ได้
-- สำนักข่าว ข่าวสด วันที่ 29 มีนาคม 2560 --
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : goo.gl/K7P7Z6