Hot Topic!
ACT เรียกร้องนายกฯ-รบ.ใหม่ ฟันรมต.ทุจริต ขอพรรคการเมืองประกาศ 6 วาระสำคัญ ปราบโกง
โดย ACT โพสเมื่อ Jun 14,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวอิศรา - -
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เรียกร้องรัฐบาลใหม่เน้นปราบโกง ลงมืออย่างจริงจังไม่เลือกปฏิบัติเรียกศรัทธาประชาชน พร้อมขอทุกพรรคการเมืองกลไกรัฐสภา ร่วมตรวจสอบการทำงานเพื่อความโปร่งใส ย้ำบทบาทภาคประชาชนติดตาม ตรวจสอบสนับสนุนเรื่องที่เป็นปย.ส่วนรวม
เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2562 นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวว่า ก่อนที่รัฐบาลจะแถลงนโยบายพัฒนาประเทศต่อสาธารณชนในด้านต่างๆ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ได้รวบรวมความคิดเห็นของประชาชนและทบทวนงานที่ภาคส่วนต่างๆ ได้ขับเคลื่อนตลอดมา เพื่อกำหนดเป็นข้อเสนอถึงรัฐบาลชุดใหม่ รับไปเป็นนโยบายด้านการต่อต้านคอร์รัปชันและการสร้างเสริมระบบธรรมาภิบาล ให้สอดคล้องกับเสียงเรียกร้องของประชาชน ใน “6 วาระสำคัญ” ดังนี้
1. รับฟังเสียงประชาชน ปกป้องและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
2. เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้อำนาจในการบริหาร ที่ประชาชนเข้าถึงง่ายเพื่อมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบอย่างเต็มที่ ซึ่งจะช่วยสร้างความไว้วางใจจากประชาชน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความโปร่งใสและแสดงถึงการมีธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ
3. กำกับดูแลคนในพรรคร่วมรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ไม่ให้มีพฤติกรรมฉ้อฉล คดโกง และมีมาตรการลงโทษ ถอดถอนอย่างชัดเจน หากมีปัญหาส่อเค้าไปในทางทุจริตควรแก้ไขโดยพลัน
4. สนับสนุนให้องค์กรตรวจสอบ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ได้ทำงานอย่างเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง และสนับสนุนให้หน่วยงานนั้นสามารถทำน้าที่ได้โดยมีประสิทธิภาพ
5. การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการควรมีความโปร่งใส เป็นธรรม มีหลักการเหตุผลชัดเจน ไม่เห็นแก่พวกพ้อง
6. สร้างความต่อเนื่องและการบังคับใช้ข้อกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติสำคัญต่างๆ ที่ได้เคยดำเนินการไว้ก่อนหน้านี้อย่างเข้มข้น อาทิ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตอนุมัติของทางราชการฯ ข้อตกลงคุณธรรม การให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการสำคัญต่างๆของภาครัฐ รวมทั้งลดทอนกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่ล้าสมัยและก่อให้เกิดเรียกรับสินบน
ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ยังกล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากข้อเสนอผ่านกลไกการบริหารประเทศดังกล่าวแล้ว ยังมีกลไกรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลการทำงานของรัฐบาลให้เกิดธรรมาภิบาล โดยเฉพาะบทบาทของฝ่ายค้านในสภาผู้แทนฯ จะต้องมีหน้าที่ช่วยตรวจสอบการทำงานของฝ่ายรัฐบาลอย่างเข้มข้น ตรงไปตรงมา เพราะทั้งสองฝ่ายต่างถือเป็นตัวแทนประชาชนและต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของการเมืองที่มีธรรมาภิบาล
เมื่อถามต่อว่าองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ จะมีเครื่องชี้วัดการทุจริตของรัฐบาลในอนาคตอย่างไร ในภาวะที่มีการปล่อยข่าวปลอมเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือทางด้านการเมือง
นายวิเชียร กล่าวว่า ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ นั้นมีกระบวนการกลั่นกรองข้อมูลที่ได้รับมาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับข้อมูลผ่านเพจต้องแฉ เพจหมาเฝ้าบ้าน หรือจะเป็นข้อมูลที่ประชาชนนำมาให้กับทางเว็บไซต์องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ด้วย
"ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ จะมีกระบวนการตรวจสอบและกลั่นกรองอยู่เสมอเพื่อจะได้คงไว้ซึ่งความเป็นธรรมขององค์กรเอง และถ้าปรากฎว่าเรื่องที่ได้รับแจ้งมามีความเป็นจริงก็จะมีการดำเนินการต่อไป ส่วนในประเด็นเรื่องการติดตามผลลัพธ์นั้นก็คงจะต้องมีการติดตามความเห็นจากทางภาคประชาชนต่อไป โดยเฉพาะการติดตามผลสำรวจ ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (Corruption Sittuation Index : CSI) ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย"
เมื่อถามต่อว่าในรัฐบาลใหม่นั้นมีรัฐมนตรีบางคนที่มีธุรกิจเป็นของตัวเอง ซึ่งอาจจะเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องของตัวเอง ในกรณีนี้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯจะดำเนินการอย่างไร
นายวิเชียร กล่าวว่า เรื่องนี้ถือว่าเป็นภารกิจของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องกำกับผู้ที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้มีประเด็นผลประโยชน์ที่ขัดกัน ซึ่งถ้าพบประเด็นเหล่านี้ นายกรัฐมนตรีจะต้องดำเนินการจัดการโดยเร็ว โดยองค์กรฯนั้นก็จะเป็นผู้ที่ติดตามเรื่องเหล่านี้ร่วมกับทางภาคประชาชน
เมื่อถามว่า สมาชิกวุฒิสภานั้นถูกแต่งตั้งมาโดยผู้ที่มีอำนาจในรัฐบาลชุดนี้ อาจจะทำให้ไปกระทบต่อกระบวนการถ่วงดุลโดยกระบวนการทางรัฐสภาและการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระหรือไม่
นายวิเชียร กล่าวว่า เชื่อว่าสถาบันวุฒิสภานั้นมีสมาชิกที่ทรงเกียรติ ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการสร้างระบบธรรมาภิบาลที่ดีต่อไป ซึ่งทางองค์กรฯก็คาดหวังและตั้งความหวังไว้กับทาง ส.ว.ไว้ได้ในระดับหนึ่ง เช่นเดียวกับประชาชนเองที่่คงจะเฝ้ามองการทำหน้าที่ของ ส.ว.ต่อไปอย่างใกล้ชิด
เมื่อถามถึง ค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ปี 2561 ซึ่งประเทศไทยได้คะแนน 99 คะแนน จาก 180 ประเทศทั่วโลก ว่าคาดหวังว่าคะแนนนี้จะดีขึ้นได้หลังจากนี้หรือไม่
นายวิเชียร กล่าวว่า กระบวนการการสำรวจ CPI ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI)นั้นมีหลายปัจจัยที่จะมาคำนวณ อาทิ ความเป็นประชาธิปไตย การเอื้อหรือไม่เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ปัญหาการทุจริตก็วัดทั้งหมดในหลายมิติ ดังนั้นไม่ใช่การแก้ไข 1 เรื่องแล้วคะแนน CPI มันจะดีขึ้น
"ที่ผมตอบแบบอ้อมค้อม เพราะจะบอกว่าให้กำหนดเป้าว่าเราจะให้ได้้คะแนนกี่คะแนน มันก็คงยากพอสมควร เพราะมันเป็นการบูรณาการปัจจัยต่างๆ แต่แน่นอนสิ่งที่เราอยากจะเห็นก็คือว่าเราจะได้คะแนนดีขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆว่าเราไม่แพ้เขาแล้วจะไปได้เร็วกว่าเขา ซึ่งเราก็เห็นปรากฎการณ์นี้อย่างทั้งในประเทศเอสโตเนีย ที่คะแนนเขาขึ้นไปเร็วมาก หรือในทางกลับกัน เวเนซุเอลาที่ลงมาเร็วมากเช่นกัน ดังนั้นเราก็อยากจะอยู่ในขาขึ้นแล้วต่อจากนี้ เราคงไม่ยอมรับที่จะอยู่ในขาลง หรืออยู่ทรงๆแบบเมื่อก่อนได้อีกแล้ว" นายวิเชียรกล่าว
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน