Hot Topic!

'ทีดีอาร์ไอ' ลุยศึกษาค่ารถไฟฟ้าแพง

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 06,2019

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ฐานเศรษฐกิจ - -

 

TDRI ชี้ค่ารถไฟฟ้ากรุงเทพแพงกว่าลอนดอน สูงกว่าสิงคโปร์ 15 บาท หรือคิดเป็น 50% สวนทางรายได้ประชากรชาติ หวั่นเปิดรถไฟฟ้าสายใหม่ดันราคามากกว่า 100 บาทต่อเที่ยว ลุยศึกษาแนวทางคุมค่าโดยสารเสนอรัฐบาล พบผู้มีรายได้น้อยแบกค่ารถไฟฟ้าไม่ไหว

 

นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่าจากผลการศึกษาของ TDRI เรื่องการเปรียบเทียบต้นทุนค่าใช้จ่ายระบบขนส่งสาธารณะรอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑลพบข้อมูลว่าค่ารถไฟฟ้าในเมืองหลวงเมื่อวัดตามอำนาจดัชนีการซื้อ(Purchasing Power Parity : PPP) พบว่าประเทศไทยอย่างกรุงเทพมหานครนั้นมีราคาค่อนข้างสูงหรือเฉลี่ยราว 28.30 บาท/เที่ยว สูงกว่าค่ารถไฟฟ้าของสิงคโปร์มากกว่า 50% โดยค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ยของสิงคโปร์อยู่ที่ 13.3 บาท/คน/เที่ยว ส่วนฮ่องกงอยู่ที่ 16.78 บาท/คน/เที่ยว

 

ขณะที่ข้อสรุปค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทางของผู้โดยสาร พบว่าไทยมีค่าโดยสารระบบรางสูงกว่าประเทศในภูมิภาคเอเซียด้วยกันเอง รวมถึงพบว่าไทยมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถโดยสาร (รถเมล์) สูงที่สุด ซึ่งค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่อเที่ยวของคนไทยอยู่ที่ 67.4 บาท คิดเป็น 2.14 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ราว 25.73 บาท คิดเป็น 0.83 ดอลลาร์สหรัฐ และฮ่องกงอยู่ที่ 46.5 บาท คิดเป็น 1.5 ดอลลาร์สหรัฐ

 

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบโครงสร้างค่าโดยสารระหว่างรูปแบบการเดินทาง พบว่าค่าโดยสารต่อ 1 กิโลเมตรของผู้โดยสารในไทยสูงกว่าประเทศอื่น ๆ แม้กระทั่งเมืองลอนดอนของอังกฤษ โดยไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 14.8 บาท คิดเป็น 0.478 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการคำนวณค่าผ่านดัชนีค่าครองชีพและกำลังซื้อที่ต่างกันแต่ละประเทศแล้วเช่นกัน พบว่าสูงกว่าสิงคโปร์ 6 เท่าและสูงกว่าฮ่องกง 3 เท่า สำหรับตัวเลขการศึกษาพบว่าค่าโดยสารเฉลี่ยต่อ 1 กิโลเมตร ในเมืองลอนดอนอยู่ที่ 12.4 บาท หรือ 0.402 เหรียญสหรัฐ ส่วนสิงคโปร์อยู่ที่ 2.3 บาท หรือ 0.075 เหรียญสหรัฐ และฮ่องกง 4.08 บาท หรือ 0.155 เหรียญสหรัฐ

 

นายสุเมธกล่าวต่อว่าขณะนี้ TDRI อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางปรับปรุงสัญญาสัมปทานค่ารถไฟฟ้าของผู้เดินรถรายเดิมและสัญญาเดินรถใหม่ที่กำลังจะเปิดบริการเพื่อให้มีแนวทางควบคุมราคาค่าโดยสารให้มีความเป็นธรรมและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป อย่างไรก็ตามมองว่าในอนาคตการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายใหม่และการเปิดเดินรถช่วงต่อขยายเส้นทางสายเดิมนั้นจะยิ่งส่งผลให้ค่ษโดยสารรถไฟฟ้าสูงมากยิ่งขึ้นหากยังไม่มีการบริหารจัดการทั้งด้านราคาและค่าแรกเข้า คาดว่าค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ยต่อการเดินทางหนึ่งครั้งจะสูงกว่า 100 บาท เช่น การเดินทางช่วงบางใหญ่-บางนา หรือการเดินทางจากบางใหญ่-เอกมัย เป็นต้น

 

ดังนั้นการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายต่างๆควรจะต้องไม่ทำให้ค่าโดยสารบานปลาย เพราะประชาชนอาจไม่สามารถรับภาระได้ จากผลการศึกษาของ TDRI พบว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีความสามารถจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าได้ 11.69 บาท/คน/เที่ยว ซึ่งต่ำกว่าค่าโดยสารเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ 28.30 บาทมากกว่า 1 เท่า ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางพบว่ามีความสามารถในการจ่ายค่ารถไฟฟ้า 20.33 บาท/คน/เที่ยว ทั้งนี้ในต่างประเทศมีการควบคุมราคาค่าโดยสารโดยนำเส้นที่เป็นไข่แดงกลางเมืองซึ่งจะมีกำไรมากที่สุด พร้อมนำรายได้ไปเฉลี่ยให้กับรถไฟฟ้าสายอื่นที่กำไรน้อยเพื่อควบคุมค่าโดยสาร แต่ในไทยเป็นเอกชนคนละเจ้า และเอกชนบางรายก็ถือสัญญาหลายสัมปทานอีกด้วย

 

“รถไฟฟ้ามีต้นทุนสูง เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารยังน้อยกว่าความสามารถรองรับของระบบที่เคยถูกออกแบบไว้ ( Design Capacity) และไทยสามารถลดลงต้นทุนรถไฟฟ้าได้ด้วยการเพิ่มปริมาณผู้โดยสาร ส่วนบทสรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบายนั้นภาครัฐควรพิจารณา คือ ให้กำหนดอัตราค่าโดยสารรถโดยสารประจำทางและรถไฟฟ้าสอดคล้องกับต้นทุนการดำเนินงาน และกลไกปรับราคาที่ต้องมีการทบทวนทั้งต้นทุนและปริมาณการใช้บริการ อย่างสม่ำเสมอ และมีการพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่ดีขึ้น เพื่อให้การประกอบการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพและเกิดความเท่าเทียมการใช้มากยิ่งขึ้นและระยะยาว แม้ว่าการพัฒนาตั๋วร่วมของระบบขนส่งสาธารณะมีค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่สูง แต่ภาครัฐควรเร่งพิจารณาด้วยเช่นกัน”

 

รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่า จากข้อมูลตัวเลขค่าครองชีพของประเทศไทยและสิงคโปร์แล้วต่างกันเกือบ 10 เท่า โดยพบว่าประเทศไทยมีรายได้ต่อหัว อยู่ที่ 18,587 บาท/เดือน สิงคโปร์มีรายได้ต่อหัวที่ 164,194 บาท/เดือน ขณะที่ฮ่องกงมีรายได้ต่อหัว 120,640 /เดือน ส่วนลอนดอนมีรายได้รายหัว 111,032 /เดือน อย่างไรก็ตามการจัดอันดับค่าครองชีพของโลกนั้น เมืองลอนดอนอยู่อันดับที่ 26 ฮ่องกงอยู่อันดับที่ 40 สิงคโปร์อันดับที่ 105 และกรุงเทพอันดับที่ 216ส่วนด้านการเปิดเผยข้อมูลของเว็ปไซต์ Aom Money พบว่าระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าซึ่งแพงที่สุดคือ ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส แพงกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT และ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ของ รฟท. โดยเทียบจาก BTS สถานีศาลาแดง – อโศก ราคาอยู่ที่ 37 บาท กับ MRT สถานีสีลม - สุขุมวิทจ่ายแค่ 23 บาท ซึ่งมีราคาแตกต่างถึง 14 บาทหรือต่อให้เทียบกันในราคาสูงสุด จาก BTS ศาลาแดง ไป BTS หมอชิต 44 บาท กับ MRT สีลม ไป MRT สวนจตุจักร แค่ 42 บาท MRT ก็ยังถูกกว่าอยู่ดี


อย่างไรก็ตามรถไฟฟ้าบีทีเอสยังมีส่วนต่อขยายไปชานเมืองซึ่งอาจทำให้ค่าเดินทางสูงสุดถึง 59 บาท และอาจมากกว่า 100 บาทหากต้องการเดินทางจากเขตชานเมืองช่วงบางใหญ่-บางนา หรือ บางใหญ่-บางหว้า อีกทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอสยังไม่มีการยกเว้นค่าแรกเข้า เหมือนกับการเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT กับรถไฟฟ้าสายสีม่วงของ รฟม. ขณะที่การเปรียบเทียบราคาแพคเกจเหมาเที่ยวพบว่า รถไฟฟ้า MRT คิดค่าบริการเหมา 40 เที่ยว ราคา 1,040 บาทและเหมา 50 เที่ยว ราคา 1,250 บาท ขณะที่รถไฟฟ้า BTS คิดค่าบริการเหมา 40 เที่ยวราคา 1,080 บาท และเหมา 50 เที่ยว ราคา 1,300 บาท

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw