Hot Topic!
งาบงบพันล้าน''จยย ไทเกอร์''
โดย ACT โพสเมื่อ Mar 24,2017
งาบงบพันล้าน'จยย.ไทเกอร์' 'นายพล'จัดซื้อผิดจริง'ป.ป.ช.'ชง 'ตร.'ฟันวินัย-อาญา
เมื่อปี 2550..."สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" ภายใต้การบังคับบัญชาของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผบ.ตร. ขณะนั้น ได้มีการจัดทำโครงการจัดซื้อรถจักรยานยนต์สายตรวจเพื่อแจกจ่ายไปยังสถานีตำรวจต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวม 1,447 แห่ง ด้วยงบประมาณ 1,144,550,600 บาท ...ถือว่ามากที่สุดอีกโครงการหนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
การจัดซื้อจัดจ้างในช่วงนั้นมีนายตำรวจระดับ "พล.ต.อ. พล.ต.ท. พล.ต.ต." ร่วมกันเป็นคณะทำงานคณะกรรมการดังที่เอกสารทางราชการระบุไว้ ...เพื่อเป็นคณะกรรมการจัดการกำหนดทีโออาร์และระเบียบวิธีการต่าง ๆ ซึ่งปรากฏว่าในช่วงเวลาที่มีการจัดเตรียมก็มีข่าวถึงการ "ฮั้วประมูล" มาต่อเนื่อง แต่ในสมัยนั้นก็ไม่มีการตรวจสอบอย่างละเอียดหรือทำข้อสงสัยให้โปร่งใสทำให้การดำเนินการประมูลงานงบ 1 พันล้านบาท ผ่านไปด้วยดี...บริษัทคาร์แทรคกิ้ง จำกัดและ บริษัทไทเกอร์มอเตอร์ จำกัด ชนะการประมูลและเป็นคู่สัญญากับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
หลังจากนั้นมีการจัดส่งรถจักรยานยนต์ยี่ห้อไทเกอร์ รุ่น Boxer 200 ราคาคันละ 65,000 บาท ให้กับสถานีตำรวจต่าง ๆ จำนวน 19,147 คัน ...ตำรวจสายตรวจต่างตั้งความหวังว่ารถจยย.รุ่นนี้คันใหม่จากโรงงานน่าจะเป็นอาวุธที่ดีที่มีประสิทธิภาพในการทำงานอย่างเต็มที่เพราะงานสายตรวจต้องใช้ความคล่องตัวและรวดเร็วในการทำงาน แต่ในความเป็นจริงแล้วพบว่ารถ จยย.รุ่นดังกล่าวมีปัญหามากมาย อาทิ เร่งเครื่องไม่ขึ้น ระบบเบรกไม่ดี สตาร์ตติดยาก เกิดน้ำมันรั่วซึม เป็นต้นและที่เลวร้ายสุดคือศูนย์บริการที่มีการระบุในสัญญาไม่มีอยู่จริงไม่สามารถให้บริการซ่อมแซมบำรุงรักษารถ จยย.ได้
เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดทำให้ "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ"ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมา ...การตรวจสอบถูกดำเนินการตามขั้นตอนในชั้นของ ป.ป.ช. ซึ่งมีการแยกส่วนความผิดทั้งในส่วนบุคคล คณะบุคคล รวมถึงความผิดทางวินัย อาญาด้วยโดยการตรวจสอบตามเอกสารหลักฐานที่ปรากฏก็มีการชี้มูลความผิดไว้เมื่อปี 2557 แต่ทางบุคคลที่ถูกชี้มูลความผิดได้ยื่นร้องขอความเป็นธรรมให้คณะกรรมการป.ป.ช.พิจารณาใหม่ ซึ่งต่อมาทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 9 ต่อ 0ว่า
1.การกระทำของ พล.ต.ท.ประชินวารี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 พล.ต.ต.สมพงษ์ น้าเจริญ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และ พล.ต.ท. อิทธิพล พิริยะภิญโญ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรีจรรยาบรรณของตำรวจ และนโยบายของรัฐบาลอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติพ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1), (9) ประกอบมาตรา 79(6)
2.การกระทำของ พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) และมีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 157
นอกจากนี้ยังมีความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12
ทั้งหมดคือความชัดเจน...ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ของการพิจารณาลงโทษที่เกี่ยวข้องกับตำรวจที่มีไม่บ่อยนักกับการจัดซื้อจัดจ้างเช่นนี้
ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ ผอ.หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาอาชญาวิทยาและการบริหารยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความคิดเห็นว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องเดิมที่ทาง ป.ป.ช.เคยมีมติไปแล้วแต่มีการยื่นขอความเป็นธรรมของตำรวจที่ถูกกล่าวหาจึงมีการพิจารณาใหม่อีกครั้งแต่ผลที่ออกมาก็ยังเหมือนเดิมคือ ตำรวจอย่างน้อย 4 นาย มีความผิดตามที่ปรากฏเป็นข่าว แต่อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดและเริ่มมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นกับการปฏิรูปองค์กรตำรวจคือการเอาผิดตำรวจตามเอกสารหลักฐานที่ปรากฏไม่มีการเอื้อประโยชน์หรือช่วยเหลือกันทางคดีดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา
"ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่การคอร์รัปชั่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติถูกตีแผ่และเปิดโปงอย่างตรงไปตรงมา และเชื่อว่าการพิจารณาโทษของ ป.ป.ช. หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติในอนาคตจะเป็นบรรทัดฐานให้สังคมตำรวจต้องยอมรับและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานกันต่อไป แม้ว่าในการทำงานของตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐอื่นจะพบการกระทำผิดบ่อยครั้งที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น คือ 1.การฉ้อราษฎร์หมายถึงการเรียกรับผลประโยชน์จากประชาชนหรือบุคคลอื่นหรือ "ส่วย" 2.บังหลวง คือ การนำเงินงบประมาณของรัฐมาเป็นของตัวเอง ...ซึ่งเชื่อว่าพฤติกรรมเหล่านี้น่าจะหมดไป"
ผอ.หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอาชญาวิทยาและการบริหารยุติธรรมมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามในฐานะที่เป็นอดีตตำรวจและนักวิชาการ อยากให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบกันเองอย่างเข้มข้นและเข้มงวด เพราะอยู่ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายโดยตรง หากมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแล้วจะถูกครหาและดูถูกองค์กรอีกทางหนึ่งด้วย
ข้อสรุปจาก ป.ป.ช. คือ นิมิตหมายที่ดีต่อองค์กรตำรวจ ต่อประชาชน และต่อภาครัฐที่เอาจริงเอาจังกับการกระทำผิดของคนในองค์กรของรัฐ หลังจากนี้คงต้องดูต่อว่า "องค์กร" ต้นสังกัดของเรื่องราวที่เกิดขึ้นจะมีการดำเนินการลงโทษทางวินัย ทางอาญา ต่อบุคคลหรือคณะบุคคลอย่างไรต่อไป.
--สำนักข่าว เดลินิวส์ วันที่ 24 มีนาคม 2560--
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : goo.gl/ZePYP2
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : goo.gl/ZePYP2