Article

การประมูลร้านดิวตี้ฟรี ต้องเปิดเผย ตรงไปตรงมา

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 05,2019

 

การประมูลร้านดิวตี้ฟรี ต้องเปิดเผย ตรงไปตรงมา


พ่อค้าย่อมต้องการกำไรเยอะๆ แต่กรณีนี้การผูกขาดจะช่วยปิดกั้นไม่ให้รัฐและสื่อมวลชนล่วงรู้ข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับธุรกิจ กำไรหรือช่องทางหากินที่รัฐขาดประโยชน์ และ ‘กระบวนการทางธุรกิจ’ บางอย่างที่เคยเป็นข่าวและประเด็นอภิปรายในสภาผู้แทนฯ สภาปฏิรูปประเทศและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เช่น แจ้งยอดขายและแบ่งกำไรให้รัฐต่ำกว่าจริง รัฐขาดรายได้จากกลยุทธ์เน้นขายที่ร้านค้าในเมืองมากกว่าร้านค้าในสนามบิน กำไรจากการให้ร้านค้าเช่าพื้นที่ การใช้เขตปลอดภาษีในสนามบินหรือ Free Zone การนำสินค้าปลอดภาษีออกไปขายนอกระบบ เป็นต้น


ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามขณะนี้


1. ความไม่โปร่งใส ไม่ยอมใช้ “ข้อตกลงคุณธรรม” ให้คนนอกได้ร่วมรับรู้ตรวจสอบ โดยอ้างว่า เรื่องนี้เป็นการหารายได้เข้ารัฐ ไม่ใช่การจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องจ่ายเงินออก แต่ไม่บอกให้ประชาชนรู้ว่า หากยอมให้รายได้เข้ารัฐน้อยลงหรือน้อยเกินไปกว่าที่ควรจะเป็น ก็เป็นความบกพร่องร้ายแรงและอาจเข้าข่ายคอร์รัปชันด้วยหากมีการกระทำหรือผลประโยชน์ส่วนตัวมาเกี่ยวข้อง 


ความจริงที่ควรรู้ก็คือ วันนี้ “ข้อตกลงคุณธรรม” ถูกนำไปใช้แล้วถึง 103 โครงการมูลค่ารวมกันกว่า 1.66 ล้านล้านบาท รวมทั้งโครงการหาเงินเข้ารัฐในรูปของสัมปทานอย่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย จนเป็นที่ประจักษ์ว่าช่วยรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติได้มหาศาล


2.  เงื่อนไขการประมูล ที่เหมือนจะซ่อนปมไว้ใน “ทีโออาร์” แบบล็อคตัวผู้ชนะไว้แล้ว เช่น การให้น้ำหนักหรือคะแนนด้านผลประโยชน์เข้ารัฐแค่ 20% แต่ให้ด้านเทคนิคที่ผูกโยงกับการใช้ดุลยพินิจมากถึง 80% อีกประเด็นคือ การกำหนดแบรนด์การันตีระดับโลกที่จะมาขายสินค้า


น่าแปลกที่ไม่ทำในแบบที่นักธุรกิจเขาทำกัน เช่น กำหนดรายได้ขั้นต่ำที่ต้องจ่ายให้รัฐ หรือยกเลิกสัญญาเมื่อเห็นว่าเขาทำไม่ได้ตามแผนธุรกิจ แต่กลับทำในสิ่งที่เขาไม่ทำกัน เช่น สนใจวิธีค้าขายของเอกชนมากเงินหรือส่วนแบ่งที่รัฐควรได้ และไม่วางเงื่อนไขน่าสนใจให้คนมาลงทุน


3. การประมูลครั้งนี้เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือไม่ ข้อนี้แม้พวกเขาจะรอจนแก้ไขกฎหมายสำเร็จแล้ว แต่หากพิจารณาจากการปฏิบัติและการตีความในอดีตทั้งจาก ป.ป.ช. กฤษฎีกา และแนวปฏิบัติสากล หลายฝ่ายเห็นว่า เรื่องนี้ยังอยู่ภายใต้กฎหมายร่วมทุนฯ อยู่ดี ถ้าสรุปอย่างนี้ผลที่ตามมาคือ การตัด ‘อำนาจชี้เอาตามใจชอบ’ ของใครบางคนดังที่เป็นอยู่


นักวิชาการและคนในธุรกิจค้าปลีกวิจารณ์ว่า สิบกว่าปีที่ผ่านมารายได้ของรัฐขาดหายไปนับแสนล้านบาทแล้ว จึงน่าจะมีการตรวจสอบว่าจริงหรือไม่

 

ดร. มานะ นิมิตรมงคล

เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

05 เมษายน 2562

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw