Hot Topic!
วงสัมมนาป.ป.ช. ถกทิศทางแก้ทุจริตรัฐวิสาหกิจ
โดย ACT โพสเมื่อ Feb 27,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก สยามรัฐ - -
โดย : ชนิดา สระแก้ว
หมายเหตุ : คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เรื่อง "การยกระดับธรรมาภิบาลในการบริหารรัฐวิสาหกิจ" เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา ณโรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น มีสาระที่น่าสนใจดังนี้
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ
ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.
"การสัมมนาระหว่าง ป.ป.ช.และผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้กรรมการและผู้บริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจได้แสดงความเจตจำนงในการบริหารงานเพื่อความสุจริต ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต รวมทั้งร่วมกันกำหนดทิศทาง และนโยบายการดำเนินงานขององค์กรรัฐวิสาหกิจ เพราะ ป.ป.ช.มีหน้าที่ในการควบคุมกำกับดูแลและตรวจสอบการบริหารงานให้เป็นไปอย่างยุติธรรมต่อประชาชนผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้เสียของกรรมการ และผู้บริหารระดับสูง ซึ่งหัวใจสำคัญต้องทำให้เกิดธรรมาภิบาลและบริษัทภิบาล เพื่อเป็นแบบอย่างด้านความโปร่งใส ซื่อตรง และสุจริต โดยเฉพาะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงจะต้องมีการบริหารงานด้วยความสุจริต ซึ่งการบริหารจัดการสุจริตจะช่วยลดการทุจริตเชิงนโยบายได้
เนื่องจากรัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลใช้พัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ ผ่านการดำเนินงานสาธารณะด้านต่างๆ อาทิ ด้านสาธารณูปโภคพลังงาน คมนาคม การสื่อสาร โดยเฉพาะเป็นช่วงที่เราจะมีการเลือกตั้งกัน ซึ่งมีผู้ที่ได้ประกาศตัวที่จะเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนในการที่จะเข้ามาดำเนินการทางด้านนิติบัญญัติ และการบริหารประเทศ ดังนั้นการยกระดับเจตจำนงในการเมืองเป็นยุทธศาสตร์ย่อยที่สอง ของยุทธศาสตร์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่สามของประเทศไทย ซึ่งมีทั้งหมด 6 ยุทธศาสตร์ 1.การสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต เราจะไม่ทำ เราจะไม่ทน เราจะไม่เฉย วันนี้มีการสร้างองค์ความรู้ให้เด็กและเยาวชนตั้งแต่ปฐมวัย ในหลักสูตรด้านทุจริตศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา และเป็นผู้ไปทำงาน ก็พยายามสร้างสังคมที่ไม่ทนกับการทุจริตเพื่อไปสู่ซีโร่กรีนไทยแลนด์ได้
รัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานที่สำคัญของประเทศไทยที่มีสินทรัพย์มากกว่า 12 ล้านล้านบาท ซึ่งเท่ากับ 4 เท่าของงบประมาณแผ่นดิน วันนี้ประเทศไทยเราต้องอาศัยเงินของพวกท่านปีละหลายแสนล้าน เพื่อนำมาสมทบเป็นทุนภาษีของประเทศ เพราะฉะนั้นรัฐวิสาหกิจจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
การยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริตจะต้องพัฒนากลไกลกำหนดให้นักการเมืองได้แสดงเจตจำนงในการต่อต้านการทุจริตต่อสาธารณชนหลังจากแสดงเจตจำนงต่อสาธารณชนต้องมีกระบวนการปฏิรูป และการกระทำต่างๆ ที่กำกับและควบคุมการดำเนินงานที่แสดงเจตจำนงทางการเมืองไว้ โดยเฉพาะการเมืองที่จะเข้ามากำกับดูแลรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ จะต้องมีการกำกับติดตามมาตรการทางจริยธรรมของนักการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกระดับ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจทั้งหมดที่เป็นองค์กรสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะระบบงบประมาณต่างๆ ที่เราใช้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตจะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนา เพราะงบประมาณที่จะเสนอเข้าสภาในปี 63 มากกว่า 3 ล้านล้านบาท แต่งบประมาณในการแก้ไขปัญหาการทุจริตของประเทศไทยปีหนึ่งไม่เกิน 3 พันล้านบาท หรือเท่ากับ .01 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณแผ่นดิน ที่นำมาแก้ปัญหาทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ ส่วนใหญ่นำมาเป็นเงินเดือนของของป.ป.ช., ป.ป.ท. และหน่วยงานที่มีหน้าที่สำคัญในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต วันนี้เราต้องอาศัยเครือข่ายพี่น้องชาวไทยที่อยู่ในภาคเอกชน
เราจะพยายามผลักดันตั้งกองทุนปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ขณะนี้ร่างกฎหมายและระเบียบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะของบประมาณแผ่นดินมาขับเคลื่อนการทุจริต เราเคยคิดที่จะนำเงินค่าปรับที่ได้ริบทรัพย์สินจากคดีร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของกองทุน แต่ไม่อยากให้มีปัญหาในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเลยไม่เอา แต่จะเอางบประมาณแทน ดังนั้นป.ป.ช.การสัมมนาครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันปราบปรามการทุจริตของประเทศเป็นรูปธรรม การทำเอ็มโอยูเป็นเรื่องที่ดี แต่การที่จะทำให้สำเร็จเป็นรูปธรรมเป็นเรื่องที่ท้าทาย จึงเชื่อมั่นและมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ว่าถ้าเราจะเอาชนะการทุจริตในประเทศนี้ได้ต้องเดินคู่ขนานกันทั้งทางด้านปราบปรามและการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพและรวดเร็วตามความคาดหวังของประชาชน
ซึ่งกฎหมายใหม่ของป.ป.ช.กำหนดกรอบพิจารณาไว้หมดแล้ว คณะกรรมการป.ป.ช.จะต้องไต่สวน รวบรวมพยานหลักฐานแต่ละคดีที่มีการร้องเรียน กล่าวหา ให้เสร็จภายใน 3 ปีรวมทั้งเรื่องค้างเก่า เพราะการทำงานของป.ป.ช.เกี่ยวกับสิทธิ ชื่อเสียง เสรีภาพของข้าราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งระดับผู้ใหญ่ และเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องให้ความเป็นธรรมในทุกกระบวนการ วันนี้กฎหมาย ป.ป.ช.มีการแก้ไขฉบับที่ 3 จะดูในมิติของผู้ให้ ของนิติบุคคลนอกจากตัวแทนนิติบุคคลแล้วนิติบุคคลก็ต้องรับโทษด้วยและมีมาตรการการรับผิดของนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบน ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับรัฐวิสาหกิจด้วย"
พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์
กรรมการ ป.ป.ช.
"ภาพรวมการจัดอันดับการทุจริตของประเทศไทยลดลงจริง โดยอยู่อันดับที่ 36 เมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 37 ลดลง1 คะแนน แต่ถ้าดูจากแหล่งประเมินจาก 9 แห่งจากการทุจริตคอร์รัปชันคะแนน 6 แห่ง แต่อีก 3 แหล่งอยู่นอกเหนือการควบคุมเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขัน เสถียรภาพทางการเมือง สภาวะทางสังคมเศรษฐกิจและความเป็นประชาธิปไตยอันนี้เราลดหมดลดไป 8 คะแนน เราตั้งเป้าว่าปี 64 จะให้ได้ 50 คะแนนซึ่งเราจะต้องทำอีกร้อยกว่าคะแนนเพราะฉะนั้นเราต้องรู้ว่า Ti ที่ประเมินนี้อ้างแหล่งข้อมูลออกจากหน่วยในต่างประเทศในประเทศเราอาจจะไม่รู้ที่เขาตอบมาคืออะไร ส่วนการประเมินในท้องถิ่นคะแนนยังไม่ดีเพราะท้องถิ่นไม่ค่อยนำขึ้นเว็บไซต์ แต่สามารถดำเนินการได้ 100% ในทุกท้องถิ่น
ต่อไปรัฐวิสาหกิจก็ต้องมีแผนในการป้องกันเพื่อจะได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ และสิ่งสำคัญระบบการควบคุมภายในของหน่วยเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการ เพราะต้องประเมินความเสี่ยงคือต้องทำให้เกิดการทุจริตต้องไปดูจุดนั้นเยอะๆ มีหลายโครงการที่มีความขัดแย้งภายในทเพราะมีการร้องมา แต่การแก้ปัญหาต้องยึดหลักกฎหมาย และระเบียบที่ถูกต้อง ไม่ใช่แห่ไปเรื่อยก็จะมีปัญหากับคู่ขัดแย้ง บางทีตั้งใจดีแต่กฎหมายไม่ให้ทำ และ
ธรรมาภิบาลนักการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ นักการเมืองก่อนที่จะเข้าสภาขณะนี้มีนโยบายต่างๆ มากมายที่จะให้โน้นให้นี่ แต่ไม่ได้วิเคราะห์นโยบายเหล่านั้นจะทำได้หรือไม่ ดังนั้น ป.ป.ช. จึงได้ทำคู่มือการชี้วัดความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบาย และได้ส่งให้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ ครม. เพราะฉะนั้นกกต.ต้องพิจารณาเองว่านโยบายเหล่านั้นสอดคล้องกับตัวชี้วัดความเสี่ยงหรือไม่ เมื่อเข้าสภาฯ และแถลงนโยบายแล้วผู้ที่จะเป็นรัฐบาลก็ต้องประเมินความเสี่ยงว่า นโยบายไหนเสี่ยงต่อการทุจริต ต้องมีมาตรการอย่างไร
เพราะฉะนั้นเมื่อแถลงนโยบาย และประกาศขั้นตอนการทำงาน ความเสี่ยงที่สุดคือการนำไปปฏิบัติ และการควบคุม ซึ่งกฎหมาย ป.ป.ช.ในมาตรา 35 ระบุว่า ถ้าเห็นว่ามีความเสี่ยงสูง เช่นนโยบายที่จะเกิดการทุจริต เราก็จะทำแผน และวิเคราะห์ โดยใช้เสียงกรรมการ ป.ป.ช2 ใน 3 ทำหนังสือถึงรัฐบาลว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเรื่องนี้มีความเสี่ยง หรือเตือนไว้แต่เนิ่นๆให้ระวังความเสี่ยงเรื่องนี้นี่คือมาตรการควบคุมป้องกัน คือเราไม่อยากให้เกิด หรือทำการทุจริต และเกิดปัญหา ป้องกันไว้ดีกว่าหรือทางทหารเรียกว่าการรบชนะที่ดีที่สุดคือไม่ต้องรบ"
นิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ
ผอ.สำนักกิจการและคดีทุจริตระหว่างประเทศ ป.ป.ช.
"ประเทศไทยเป็นอนุภาคีในการต่อต้านการทุจริตซึ่งปัญหาการทุจริตกระทบกับทุกประเทศทั่วโลก มีการหลบหนีของผู้กระทำผิด มีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจไปไว้ในต่างประเทศ จึงมีกฎหมายระหว่างประเทศที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และประเทศไทยเป็นรัฐภาคีระบบทวินิยม ซึ่ง ป.ป.ช. ได้มีการปรับปรุงกฎหมายเป็นแบบของไทยแล้ว ซึ่งประเทศทั่วโลก 186 ประเทศที่เป็นอนุสัญญาเติบโตอย่างรวดเร็วมาก เพราะทุกประเทศถือเป็นปัญหาใหญ่ และให้ความร่วมมือระหว่างกันโดยมีโครงสร้างและกฎหมายฉบับใหม่ที่สอดคล้องกับพันธกรณีสัญญาระหว่างกัน
ส่วนอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.เป็นหน่วยงานกลางในการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะคดีทุจริตระหว่างประเทศในการไต่สวนให้ความร่วมมืออย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ หมายความว่าเงินสินบนระหว่างประเทศต้องระวังเรื่องที่จะมีการมาเสนอผลประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันรัฐวิสาหกิจไทยมีศักยภาพสูงมากไปทำธุรกิจในต่าง ประเทศต้องดูว่ากฎหมายในประเทศนั้นๆ ให้ทำอะไรบ้าง ปัจจุบันประเทศไทยถือว่ามีกฎหมายที่เทียบเท่ามาตรฐานองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ส่วนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI สิทธิประโยชน์ต่างๆสามารถพูดว่าประเทศไทยมีความเท่าเทียมทางธุรกิจ และกฎหมายไทยไม่เอื้ออำนวยต่อการให้สินบน และมีโทษหนัก
การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ ป.ป.ช.ได้ตั้งศูนย์ประสานงานคดีระหว่างประเทศขึ้น ขณะนี้คดีทุจริตระหว่างประเทศหลั่งไหลมาทุกวัน โดยเฉพาะข้อมูลจากต่างประเทศแจ้งมาว่ามีเงินสกปรกผ่านแบงก์กิ้งไปปรากฏอยู่ที่ธนาคารในประเทศหนึ่ง แล้วบอกว่าเป็นเงินที่เกี่ยวข้องกับโครงการกับประเทศไทย วันดีคืนดีบีบีซีออกข่าวมีการตรวจสอบพบเงินสินบนเกี่ยวข้องกับ3 ประเทศในเอเชียหนึ่งในนั้นมีประเทศไทยด้วย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยเป็นอนุสัญญา การมีฐานความผิดร่วมกัน การยกระดับมาตรฐานร่วมกัน การฟอกเงิน การปราบปรามการทุจริต หากมีการตรวจพบก็จะทำให้ประเทศที่รัฐภาคีจะต้องแจ้งให้ประเทศที่เกี่ยวข้องทราบ เมื่อทราบแล้วก็จะเกิดความร่วมมือในทางคดี จึงเป็นสิ่งที่รัฐวิสาหกิจต้องระมัดระวังในส่วนของคู่ค้าของท่านว่าไปเกี่ยวข้องหรือเปล่า ไปทำธุรกิจผิดกฎหมายหรือเปล่า
การที่ต่างประเทศจะเข้ามาลงทุนในบ้านเราต้องดูให้ดีว่าจะกระทบชื่อเสียงรัฐวิสาหกิจหรือไม่ ตรงนี้ถือว่าเป็นมาตรฐานสากล เรามีรัฐธรรมนูญปราบโกง และมีและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่แรง จะต้องให้นักกฎหมายดูว่าสิ่งใดทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ สิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่รัฐวิสาหกิจควรจะต้องรู้คือ คดีให้สินบนข้ามชาติระหว่างประเทศร้อยละ 53 ผู้บริหารระดับสูงมีส่วนเกี่ยวข้อง 3 ใน 4 ของคดีทุจริตระหว่างประเทศคือการใช้ตัวแทน มือปืนรับจ้าง 57% ของคดีสินบนเกิดขึ้นในสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างของของรัฐเกี่ยวกับโครงการเมกะโปรเจกต์ต้องระวัง
ตรงไหนเป็นคนความเสี่ยงรัฐวิสาหกิจต้องให้เจ้าหน้าที่ไปดูกฎหมายของ ป.ป.ช.โดยเฉพาะมาตรา มาตรา176 วรรค 2 ระบุว่า หากเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลใดและกระทำไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลนั้น โดยที่นิติบุคคลดังกล่าวไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อการป้องกันไม่ให้การกระทำ ความผิด นิติบุคคลนั้น ต้องระวางโทษตั้งแต่ 1 เท่าแต่ไม่เกิน 2 เท่าท่านคงเคยได้ยินว่าทำไมบริษัทเซเว่น และบริษัทซีเมนต์โดนปรับ เป็นเงินจำนวนมหาศาล บริษัทจอห์นสัน แอนด์จอห์นสัน บริษัทต่างๆ ทั่วโลก มีการกระทำความผิด โทษปรับทางการเงิน ผู้ถือหุ้น กระทบ และเศรษฐกิจของประเทศไทยก็อาจจะสั่นคลอนได้
หากรัฐวิสาหกิจมีมาตรการความควบคุมภายในที่เหมาะสม ในการป้องกันการให้สินบน อาจไม่รับผิดเพราะฉะนั้นเมื่อมีนโยบายชัดเจน หากคนในองค์กรกระทำความผิดก็เป็นการกระทำความผิดเฉพาะตัวนอกจากนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ประกาศ เกี่ยวกับมาตรการการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่ง ป.ป.ช.สามารถเข้าไปขอดูในองค์กรของท่านว่ามีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมหรือไม่ ไม่ใช่เข้าไปดูเพื่อที่จะไปหาจุดบกพร่อง"
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน