Hot Topic!
คอลัมน์ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในชุมชนเขต กทม.
โดย ACT โพสเมื่อ Nov 30,-1
- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -
ข้อมูลการจัดอันดับคอร์รัปชันขององค์กรเพื่อความ โปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ประจำปี พ.ศ.2561 ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index : CPI) ที่เพิ่งประกาศเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 99 จาก 180 ประเทศ มีคะแนน 36 คะแนน จากคะแนน เต็ม 100 คะแนน เปรียบเทียบกับหลายๆ ปีที่ผ่านมา พบว่าอันดับตกลง สรุปได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ยังมีปัญหาการคอร์รัปชันในระดับสูงและมีแนวโน้มจะสูงขึ้นไปอีก และเมื่อหันมามองในระดับท้องถิ่น ชุมชนในเขต กทม. ก็ล้วนแล้วแต่มีปัญหาคอร์รัปชันทั้งสิ้น จากผลการวิจัยปัญหาคอร์รัปชันในชุมชน กทม. พบว่ารูปแบบและช่องทางการคอร์รัปชันที่เป็นปัญหาหลักในชุมชน ได้แก่ การยักยอกเงินของสมาชิกชุมชนโดยกรรมการชุมชนบางคนเพื่อใช้จ่ายส่วนตัวโดยการใช้ตำแหน่งหน้าที่ที่ขาดการถ่วงดุลจากบุคคลอื่น รวมถึงการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการชุมชนที่ต้องทำให้เกิดความโปร่งใสในการทำงาน อีกทั้งกรรมการยังไม่มีการชี้แจงบัญชีรายรับรายจ่ายของชุมชนและไม่มีการจัดทำบัญชีสิ่งของบริจาคเพื่อชุมชนจากหน่วยงาน ภายนอก ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าหน้าที่รัฐยังทำการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างโดยมีการฮั้วกับผู้ประกอบการในการจัดหาของใช้จำเป็นให้แก่ชุมชน
จากผลการวิจัยยังพบอีกว่าทางออกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของชุมชนใน กทม. ต้องมีระบบและกลไกภายใต้หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนและถือปฏิบัติดังนี้
1. ต้องกำหนดในระเบียบชุมชนในเรื่ององค์ประชุมของคณะกรรมการชุมชนให้ชัดเจนว่าต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมเกินกึ่งหนึ่ง เพื่อให้มติของที่ประชุมได้ผ่านการกลั่นกรองและร่วมปรึกษาหารืออย่างรอบคอบจากจำนวนกรรมการข้างมาก ไม่ใช่มาจากประธานชุมชนหรือกรรมการชุมชนเพียงสองสามคน และกำหนดให้มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละครั้ง
2. คณะกรรมการชุมชนต้องกำหนดระเบียบชุมชนในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้านการเงินทั้งรายรับและรายจ่ายของกิจกรรมที่จัดขึ้นในชุมชน โดยสรุปค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมภายใน 15 วันหลังจากกิจกรรมแล้วเสร็จ รวมถึงการจัดให้มีช่องทางการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารอื่นๆ ของชุมชนที่มีประสิทธิภาพและทำอย่างต่อเนื่อง เช่น บอร์ดประชาสัมพันธ์ เสียงตามสาย แผ่นปลิว การประชุม เป็นต้น
3. คณะกรรมการชุมชนต้องจัดให้มีระบบบัญชีชุมชน อันประกอบด้วย บัญชีรายรับรายจ่ายอย่างง่าย การสรุปรายรับรายจ่ายประจำเดือน และบัญชีการรับจ่ายสิ่งของ โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกชุมชนสามารถเข้ามาตรวจสอบรายละเอียดของบัญชีต่างๆ ได้โดยสะดวก
4. คณะกรรมการชุมชนต้องจัดทำแบบฟอร์มการเบิกจ่ายเงินของชุมชน และกำหนดในระเบียบชุมชนเกี่ยวกับกติกาของกรรมการผู้มีอำนาจลงนามเบิกจ่ายอย่างน้อย 2 ใน 3 คน อีกทั้งต้องกำหนดจำนวนเงินสดในมือไม่เกินวันละ 3,000 บาท
5. คณะกรรมการชุมชนต้องเปิดโอกาสและผลักดันให้สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วม ตลอดจนเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการอย่างจริงจังและจริงใจ
6. หน่วยงานภาครัฐต้องมีการกำกับดูแลและติดตามการใช้จ่ายงบประมาณที่สนับสนุนชุมชนอย่างเคร่งครัดตามกฎระเบียบ รวมถึงต้องสำรวจและทบทวนกฎเกณฑ์และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเบิกและการใช้จ่ายงบประมาณของชุมชนให้สอดคล้องกับความจำเป็นของชุมชน เช่น ทางปฏิบัติสำนักงานเขตกำหนดให้ประธานชุมชนสำรองเงินรายเดือนเพื่อการพัฒนาชุมชน แล้วให้นำใบเสร็จมาเบิกเงิน ย้อนหลัง โดย ค่าใช้จ่ายที่จะสามารถเบิกเงินคืนได้จะต้องจัดซื้อของหรือใช้จ่ายตามรายการที่กำหนดในระเบียบของสำนักงานเขตเท่านั้น ทำให้เงินที่คณะกรรมการชุมชนใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นของชุมชนบางกรณีไม่เป็นไปตามระเบียบฯ จึงหันไปใช้วิธีจัดหาใบเสร็จตามรายการที่กำหนดในระเบียบฯ เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายเงินได้
หากชุมชนมีระบบและกลไกภายใต้หลัก ธรรมาภิบาลดังกล่าวแล้ว ก็จะเป็นเครื่องมือ สำคัญที่จะทำให้ชุมชนเป็นสังคมปลอดคอร์รัปชัน (Corruption Free Community) ได้อย่างแท้จริง และจะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการปรับลำดับ ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศไทยให้ดีขึ้น
"คอร์รัปชันในชุมชนฤาจักพูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทองต่อไป???"**ข้อมูลส่วนหนึ่งจากงานวิจัย อมรรัตน์ กุลสุจริต, เพ็ญประภา ภัทรานุกรม, สุจิตรา สามัคคีธรรม, ปรีชา ปิยจันทร์ และหฤทัย กมลศิริสกุล (2560). "แนวทางการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อพัฒนาชุมชนให้เป็นสังคมที่ปลอดคอร์รัปชันโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน : กรณีศึกษาชุมชนในเขตบางเขน เขตสายไหม เขตดอนเมือง และเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร". สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน