Hot Topic!

ยุทธศาสตร์ภาครัฐ

โดย ACT โพสเมื่อ Jan 24,2019

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยรัฐ - -

 

คอลัมน์ มุมข้าราชการ : โดย ซี.12


การเลือกตั้งกำลังจะมาถึงในไม่ช้าแม้ว่าการตกลงเรื่องวันหย่อนบัตรจะยังไม่ลงตัวเสียทีเดียว แต่การหาเสียงก็เป็นไปอย่างเข้มข้น

มีทั้งการสาดใส่วาทกรรมเข้าหากันด้วยความเมามันและการนำเสนอนโยบายจูงใจอย่างแยบยล

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็เพื่อหวังแย่งชิงอำนาจรัฐมาเป็นของตัวเอง

มุมมองอีกด้านหนึ่งซึ่งน่าจะเกี่ยวพันกับพวกเราเหล่าข้าราชการก็คือ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งช่วงชิงอำนาจรัฐมาได้แล้วจะกำหนดนโยบายอย่างไรเกี่ยวกับผู้คนในภาครัฐ

จะสอดคล้องเป็นไปได้แค่ไหนเพียงไรกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ผู้มีอำนาจในปัจจุบันจัดวางผูกเงื่อนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ

 

ก็เลยอยากจะหยิบยกเอายุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐมาให้พิจารณาเพียงเลาๆถึงโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐ การพัฒนาบุคลากรภาครัฐ การปฏิรูปกฎหมายระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ การพัฒนากระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ อัยการ ศาล ทนายความ ราชทัณฑ์)และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

 

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการชุดที่ นายพงศ์ โพยมวาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็น ประธานกรรมการและมีกรรมการประกอบด้วย นายทรงศักดิ์ วงศ์ภูมิวัฒน์ ศาสตราจารย์ทศพร ศิริสัมพันธ์ ศาสตราจารย์พิเศษภักดี โพธิศิริ นางวรารัตน์ อติแพทย์ นายวิพล กิติทัศนาสรชัยรองศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย ศาสตราจารย์สกนธ์ วรัญญูวัฒนา นายสราวุธ เบญจกุล นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม นายสุเมธ รอยกุลเจริญ พลเอกอาชาไนย ศรีสุข และนายดุสิต เขมะศักดิ์ชัย ซึ่งเป็น กรรมการและเลขานุการ

 

คณะกรรมการชุดนี้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐเรียบร้อยแล้วมีสาระสำคัญโดยย่อว่า

 

ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารภาครัฐมีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อปรับเปลี่ยนภาครัฐที่ยึดหลัก "ภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม" โดยภาครัฐต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับบทบาท ภารกิจ แยกแยะบทบาทหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ในการกำกับหรือในการให้บริการยึดหลักธรรมาภิบาล ปรับวัฒนธรรมการทำงานให้มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวม มีความทันสมัยและพร้อมที่จะปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ ระบบการทำงานที่เป็นดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้อย่างคุ้มค่าและปฏิบัติงานเทียบได้กับมาตรฐานสากล รวมทั้งมีลักษณะเปิดกว้าง เชื่อมโยงถึงกันและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็วและโปร่งใส

 

โดยทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมกันปลูกฝังค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริตความมัธยัสถ์และสร้างจิตสำนึกในการปฏิเสธไม่ยอมรับการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างสิ้นเชิง นอกจากนั้นกฎหมายต้องมีความชัดเจนมีเพียงเท่าที่จำเป็นมีความทันสมัย มีความเป็นสากลมีประสิทธิภาพและนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและเอื้อต่อการพัฒนา โดยกระบวนการยุติธรรมมีการบริหารที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติและการอำนวยความยุติธรรมตามหลักนิติธรรม

 

ในการนี้มีตัวชี้วัดประกอบด้วย

(1)ระดับความพึงพอใจของประชาชนต่อการให้บริการสาธารณะของภาครัฐ

(2)ประสิทธิภาพของการบริการภาครัฐ

(3)ระดับความโปร่งใส การทุจริต ประพฤติมิชอบและ

(4)ความเสมอภาคในกระบวนการยุติธรรม

 

นี่เป็นเป้าหมายอันหนักอึ้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อ 4 ความเสมอภาคในกระบวนการยุติธรรม

 

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw