Hot Topic!
รากฐานการควบคุมที่ดี
โดย ACT โพสเมื่อ Dec 11,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก โพสต์ทูเดย์ - -
คอลัมน์ คิดเป็นเห็นต่าง : โดย ดร.ปิยะพันธ์ ทยานิธิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ
จากสัปดาห์ที่แล้ว ได้กล่าวถึงรากฐานการควบคุมที่ดีใน 3 มิติ ยังเหลืออีก 2 มิติ คือ มิติที่สี่ สายงานหลัก (Pipeline) กล่าวคือ กรรมหรือกิจกรรม พื้นฐาน ได้แก่ มโนกรรม ความคิดความเข้าใจ คติมติ ข้อสรุป (Think) วาทกรรม วจีกรรม วาจาคำพูดคำอธิบายบรรยาย ข้อชี้แจงแถลงไข (Talk) และพฤติกรรม กายกรรม การกระทำ ข้อประพฤติปฏิบัติ (Task) ซึ่งสอดคล้องสัมพันธ์กับพีระมิดภารกิจสำมัญ คือ ตัดสินใจ-สื่อความ-ร่วมปฏิบัติ (Conception|Decision-Conduction|Communication-Cooperation|Execution : 3C|DCE) ตามลำดับ ซึ่งต้องอาศัยเจตนารมณ์ (Spirit) และแก่นสาร (Substance) แทนที่จะล่อหลอกให้หลงผิดกันด้วยรูปลักษณ์ (Style)
สุดท้ายมิติที่ห้า โครงสร้างงานพื้นฐาน (Platform) หรือผังงานเบื้องต้น อันได้แก่ หลักการ แนวคิด (Principle) นโยบาย (Policy) ขั้นตอน กระบวนการ (Process) วิธีการ กลไกกลวิธี (Procedure) การปฏิบัติงาน (Practice) และผลงานผลการปฏิบัติงาน (Performance) ซึ่งล้วนต้องอาศัยรูปแบบ แก่นสาร รูปลักษณ์ จิตสำนึกและเจตนารมณ์ที่ดี ร่วมด้วยความระมัดระวัง รอบคอบรัดกุม ถูกกาลเทศะ ถูกโฉลก จังหวะ ระดับ บุคคลและสถานการณ์
รากฐานการควบคุมที่ดี (Good Control Foundation) จึงหมายถึงรากฐานที่ดีของการควบคุม มีคุณสมบัติสารัตถะสำคัญจัดเป็นเจ็ดองค์ประกอบหลักขั้น พื้นฐาน ดังแสดงในแผนภูมิแก่นการควบคุม (A Control Kernel) ได้แก่ ความต่อเนื่อง สม่ำเสมอ อดทนเพียรพยายาม ไม่ย่อท้อ (Continuity) ความเที่ยงตรง ต่อสถานภาพ เป็นกลาง ตามหลักฐานความเป็นจริง ตรวจสอบพิสูจน์แสดงได้ (Objectivity) ความจำเป็น สำคัญ เพียงพอเหมาะสม (Necessity) ความโปร่งใส จริงใจบริสุทธิ์ใจ ชัดเจนรู้เห็นเข้าใจและเปิดเผยติดตามรายงานได้ (Transparency) ความรับผิดชอบ ต่อภารกิจ ทั้งหน้าที่และผลงาน มุ่งมั่นแน่วแน่ไม่หวั่นไหว (Responsibility) ความเห็นชอบยอมรับกันทั่วไป อนุญาตยินยอมพร้อมใจ (Orthodoxy) และสุดท้าย ความสมเหตุผล เป็นธรรม ตามข้อเท็จจริง รองรับด้วยหลักการ มาตรฐาน กฎเกณฑ์กติกา ข้อตกลง รวมทั้งค่านิยมและวัฒนธรรม (Legitimacy) ดังนั้น รากฐานที่ดีจึงต้องมีแนวทางประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ อย่างบูรณาการครบถ้วนสมบูรณ์ในทุกมิติตามสถาปัตยกรรมภารกิจทั่วไปข้างต้น
โดยลำดับแล้ว การควบคุมควรเริ่มตั้งแต่ขั้นต้นของกระบวนการ นั่นคือ มโนกรรมความคิด เพราะจะช่วยให้สามารถควบคุมกระบวนการที่ตามมาในขั้นตอนการแสดงออก ทั้งวาทกรรมและพฤติกรรม ได้ดีขึ้นหรือมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น แม้ว่าไม่อาจรับประกันผลลัพธ์ได้ ในทางตรงข้าม การควบคุมที่มุ่งเน้นเพียงผลลัพธ์ ไม่ว่าที่พฤติกรรมในขั้นปลาย หรือวาทกรรมในขั้นกลางก็ตาม โดยละเลยมโนกรรมในขั้นตั้งต้นแล้ว ก็ย่อมก่อให้เกิดความเปราะบาง (Vulnerability) แปรปรวน (Variability) ปั่นป่วน (Volatility) จนถึงขาดเสถียรภาพ (Stability) ไร้ปริตรภาพ (Resiliency) และเสียสมภาพ (Symmetry) ได้ภายในเวลาไม่ช้าก็เร็ว
ตัวอย่างเช่นกรณีการเพิ่มผลิตภาพทางเกษตรกรรมและลดความเสียจากโรคภัยศัตรูพืช นับว่าเป็นความตั้งใจที่ดี โดยนำไปสู่การใช้สารเคมีอันตราย เพื่อป้องกันหรือกำจัดวัชพืช (Herbicide) ปราบศัตรูพืช (Pesticide) ฆ่าแมลง (Insecticide) รวมถึงปุ๋ยเคมี (Fertilizer) และแนะนำส่งเสริมจนกลายเป็นเรื่องปกติที่นิยมกันแพร่หลาย เพราะใช้ง่ายสะดวกให้ผลตามสรรพคุณเร็วทันใจ แต่พบปัญหามากมายตามมา ซึ่งเพิ่งได้รับความสนใจจากสังคมในภายหลัง โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ (Health) และสภาพสิ่งแวดล้อม (Environment) ไม่ว่าด้านสารตกค้าง (Residue) หรือการปนเปื้อน (Contamination)
การควบคุมเป็นงานเบื้องหลังผลสำเร็จของแต่ละภารกิจ จึงเหมือนการปิดทองหลังพระ ต้องอาศัยหลักอิทธิบาท (Iddhipada-Efficacy Principle) ตามแนวทางของหลักการความพอเพียง (Sufficiency Principle) สมเหตุผล พอประมาณและเตรียมพร้อม บนพื้นฐานคุณวุฒิความรู้ (Ingenuity) ควบคู่กับคุณธรรมความดี (Integrity) สมบูรณ์พร้อมในทุกบริบทตั้งแต่ระดับ ควบคุมตนเอง (Self Control) ควบคุมกันเอง (Internal Control) ถึงควบคุมแยกห่าง (External Control) ตลอดทั้งควบคุมแยกออกอย่างชัดเจนจนจัดว่าเป็นงานตรวจสอบ (Audit) ซึ่งผนวกกันกลับมาเป็นควบคุมรวม (Overall Control) โดยอาศัยรากฐานการรักษาวินัยตนเอง (Self Discipline) ในทุกระดับ ตามหลักคำสอนว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน (อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ) ตามนัยของหลักโยนิโสมนสิการ ดังที่อ้างถึงข้างต้น หล่อหลอมด้วยการนำทาง (Lead) ส่องทาง (Guide) กรุยทาง (Tone) และเดินทาง (Walk) ควบคู่ไปกับปัจจัยแวดล้อมที่ช่วยสนับสนุนส่งเสริมดึงดูด ผลักดันกระตุ้นเตือนตาม หลักปรโตโฆสะ (Paratoghosa-External Persuasion) โดยเฉพาะหลักกัลยาณมิตตตา (Kalyanamittata-Virtuous Association) ตามแนวกาลามสูตร (Kalamasutta) หรือเกสปุตตสูตร (Kesaputtasutta)
รากฐานการควบคุมที่ดีต้องมีความคิดตั้งต้นที่ดี (Good Conception) ความรู้ความเข้าใจจริงอย่างถ่องแท้ในสามัญลักษณ์และธรรมชาติของภารกิจ ตามหลักไตรลักษณ์ (Tilakkhana-Tri-characteristic) โดยถือปฏิบัติดำเนินงานอย่างแน่วแน่ด้วยศีล (Sila-Morality) สติ (Sati-Mindfulness) สมาธิ (Samadhi-Meditation) ปัญญา (Panna-Mentality) ตามหลักไตรสิกขา (Tisikkha-Triangular Studies) จึงจะช่วยเป็นแรงผลักดันสนับสนุนให้สามารถสร้างสรรค์พัฒนาระบบการควบคุมที่ดี บรรลุวัตถุประสงค์เชิงประสิทธิผล ประสิทธิภาพและคุณภาพ อีกทั้งก้าวหน้าต่อไปบนเส้นทางภารกิจที่มีดุลยภาพอย่างยั่งยืน
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน