Article

การฟอกเงินและสินบนข้ามชาติ

โดย ACT โพสเมื่อ Oct 26,2018


การต่อต้านการฟอกเงินอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดปัญหาคอร์รัปชันหรือสินบนข้ามชาติได้เป็นอย่างดี แต่กลับพบว่า ประเทศไทยยังไม่ผ่านประเมินการปฏิบัติตามและบังคับใช้มาตรการด้านการฟอกเงินและการต่อต้านทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้ายตามมาตรฐานสากล ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) เมื่อ 15 มีนาคม 60 มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเร่งแก้ไขปัญหา โดยหน่วยงานที่ไม่ผ่านการประเมินมีมากถึง 19 หน่วยงาน ได้แก่ ป.ป.ช. ป.ป.ง. ดีเอสไอ ป.ป.ส. กรมศุลกากร อัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สภาความมั่นคงฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย กลต. กรมการปกครอง กรมการจัดหางาน และองค์กรภาคเอกชนอีก 6 แห่ง

 

กรณีสินบนโรลส์-รอยส์ เป็นกรณีหนึ่งที่ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่าง การฟอกเงินและสินบนข้ามชาติได้ดี

 

โรลส์-รอยส์ มีบริษัทแม่ในประเทศอังกฤษและบริษัทลูกที่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา ดังนั้นเมื่อมาติดสินบนเจ้าหน้าของไทย พวกเขาจึงเป็นความผิดตามกฎหมายของทั้งสองประเทศและของไทย

 

กรณีสินบน ปตท. เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2546 – 2555 จากการที่โรลส์-รอยส์ ได้อาศัยตัวแทนธุรกิจในประเทศไทยเป็นตัวกลางในการวิ่งเต้นให้มีการล็อคสเปค ด้วยการเขียน ‘ทีโออาร์’ ให้ตนได้เปรียบคู่แข่งอื่นๆ รวมทั้งทำให้ตนสามารถผูกขาดการค้านั้นกับ ปตท. (PTT) และ ปตท.สผ. (PTTEP) ในระยะยาว รวม 7 โครงการ มีการจ่ายสินบนไปทั้งสิ้นราว 11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 7.5 ของมูลค่าสัญญางาน โดยจ่ายในรูปของค่านายหน้า และ ‘ค่าความร่วมมือด้านวิศวกรรม’ ดังปรากฏในหลักฐานอีเมล์ที่ทั้งสองฝ่ายใช้ติดต่อกัน

 

พวกเขาทำสำเร็จแต่ปัญหายุ่งยากของสมรู้ร่วมคิดครั้งนั้นคือ บริษัทต้องจ่ายเงินจำนวนมากให้นายหน้าหลายคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้บริหารหน่วยงานและนักการเมืองไทย

 

การจ่ายเงินจึงต้องใช้วิธีที่หลากหลายเพื่อให้เกิดความสับสน ปิดบัง อำพรางแหล่งที่มาของเงิน การนำเงินเข้าบัญชีและนำเงินกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างถูกกฎหมาย การสร้างรายการทางการเงินให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งให้เป็นไปตามความต้องการของผู้รับเงินด้วย ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ล้วนเข้าข่ายการฟอกงิน

 

มีคดีสินบนข้ามชาติในประเทศไทย แต่ถูกเปิดเผยอย่างต่อเนื่องจากการตรวจสอบและลงโทษโดยหน่วยงานของต่างชาตินั้นเองอีกหลายคดี เช่น คดีซีทีเอ๊กซ์ อดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวฯ สินบนแก้ภาษีเหล้า รถเรือดับเพลิง มิตซูบิชิโครงการโรงไฟฟ้า กล้องวงจรปิดรัฐสภา สินบนใบยาสูบ เหมืองทองจากออสเตรเลีย แต่ยังมีอีกหลายโครงการที่ประชาชนคลางแคลงใจและรอวันพิสูจน์ ทั้งที่เกี่ยวกับการซื้ออาวุธ การซื้อสินค้าเทคโนโลยี่และการร่วมลงทุนกับเอกชนด้วยวงเงินสูงๆ และการลงทุนในเมกะโปรเจคต่างๆ 

 

มีผลการสำรวจระบุว่า โดยทั่วไป ‘นักธุรกิจข้ามชาติ’ มักต้องจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศที่ตนไปลงทุน เพื่อให้ตนได้รับความสะดวก ลดขั้นตอน ลดต้นทุนบางอย่างหรือสร้างความได้เปรียบทางการค้า โดยร้อยละ 75 ของบริษัทเหล่านี้จะติดต่อเจรจาและจ่ายสินบนผ่านตัวแทน เช่น บริษัทร่วมทุน ที่ปรึกษา บริษัทบัญชีหรือทนายความ และถ้าเป็นบริษัทที่ติดต่อค้าขายกับหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ จะมีจำนวนมากถึงร้อยละ 75 ที่จ่ายสินบน โดยบริษัทที่ถูกสำรวจร้อยละ 15 ยอมรับว่าตนเต็มใจที่จะจ่ายสินบน (ขออภัยที่ผมจำชื่อองค์กรที่สำรวจนี้ไม่ได้)

 

อันที่จริงการต่อต้านการฟอกเงินอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากช่วยลดคอร์รัปชันหรือสินบนข้ามชาติได้แล้ว ยังลดปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ค้าของเถื่อน ค้าอาวุธ ยาเสพติด ค้าทาส ค้าแรงแรงงานรวมถึงการก่อการร้ายที่ล้วนกระทบต่อความมั่นคงของชาติ จึงน่าทบทวนกันดูว่า ทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหล่านี้จึงทำงานหรือมีมาตรการที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่องค์กรต่อต้านการฟอกเงินเอเซียแปซิฟิก (APG) กำหนด

 

ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw