Hot Topic!
ทุจริตเงินคนจน
โดย ACT โพสเมื่อ Oct 10,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก คมชัดลึก - -
คอลัมน์ And justice for all โดย : ผศ.ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ
กรณีการทุจริตการเบิกจ่ายงบประมาณอุดหนุนประเภทเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยผู้ยากไร้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นับเป็นกรณีที่เป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป มีการทุจริตงบประมาณของรัฐตั้งแต่ผู้ปฏิบัติงานโยงไปถึงผู้บริหาร เป็นกรณีที่น่าสนใจควรแก่การศึกษาและนำมาอธิบายโดยทฤษฎีทางอาชญาวิทยาถึงกรณีดังกล่าว
จากกรณีดังกล่าวจะพบว่าผู้ที่ร่วมขบวนการทุจริตมีทั้งข้าราชการระดับล่างไปจนถึงผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ได้มีความยากลำบาก หรือมีเหตุจำเป็นที่จะต้องการเงิน ทรัพย์สิน เพื่อการดำรงชีพ แต่เป็นการที่ผู้ทุจริตใช้อำนาจหน้าที่ของตนในการกระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ เพื่อสนองความต้องการของตน ส่งผลกระทบต่อคนยากคนจน และเป็นการกระทำที่มีมาอย่างยาวนานในองค์กร สร้างความเสียหายให้แก่งบประมาณในจำนวนที่สูงมาก ซึ่งหากไม่มีผู้มาเปิดโปงการทุจริตดังกล่าวอาจจะไม่มีบุคคลใดที่จะถูกดำเนินคดีในคดีนี้ จึงถือว่าผู้ที่กระทำความผิดนั้นเป็นอาชญากรที่มาในรูปแบบของผู้มีหน้าที่การงานดี เป็นที่นับหน้าถือตาของผู้คนทั่วไป แต่ใช้หน้าที่ของตนในการก่ออาชญากรรม ดังที่ เอ็ดวิน ซัทเธอร์แลนด์ นักอาชญาวิทยาชื่อดัง ให้คำจำกัดความว่า "อาชญากรรม คอปกขาว" นั่นเอง
หากทำการวิเคราะห์ถึงสาเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดกระทำความผิดในกรณีดังกล่าวนี้ กล่าวได้ว่า "กฎหมายหรือระเบียบมีช่องว่างหรือมีข้อบกพร่อง" ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญที่ทำให้การหาพยานหลักฐานของอาชญากรรมคอปกขาวทำได้ยาก ยิ่งกว่านั้นการกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ต่อหลายบุคคล จึงไม่มีฝ่ายใดยอมเปิดเผยการกระทำความผิดซึ่งกันและกัน
อีกประเด็นหนึ่งคือ "ตำแหน่งหน้าที่ที่เอื้อต่อการกระทำผิด" ถ้าปราศจากอำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ราชการแล้ว อาชญากรรมคอปกขาวจะเกิดขึ้นได้ยาก อาชญากรรมคอปกขาวพบมากในส่วนราชการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่สามารถควบคุมเจ้าหน้าที่ชั้น ผู้น้อยให้อดทนต่อพฤติกรรมทุจริตได้ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือเจ้าหน้าที่ระดับสูงเหล่านั้นก็กระทำการทุจริตเสียเอง
หากวิเคราะห์ถึงแนวทางแก้ปัญหาการเกิดอาชญากรรมคอ ปกขาวในกรณีดังกล่าวนี้ ขั้นแรกสุดคงหนีไม่พ้นการเพิ่มเงินเดือนหรือเงินเพิ่มพิเศษของเจ้าหน้าที่ เนื่องด้วยเงินเดือนนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพ ซึ่งหากได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่สูงจะส่งผลให้การทุจริตลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ แนวทางการแก้ปัญหาด้วยวิธีดังกล่าวนี้เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในประเทศสิงคโปร์ระดับค่าตอบแทนหรือเงินเดือนที่ควรจะเป็นในความเห็นของผู้เขียนเชื่อว่าควรที่จะมีการปฏิรูประบบฐานเงินเดือนดังต่อไป นี้
ในระดับเจ้าหน้าที่ทั่วไปจากเดิมได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 12,000 บาทโดยประมาณควรที่จะมีเงินเดือน 30,000 บาท ระดับเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์จากเดิมได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 15,000 บาท ควรที่จะมีเงินเดือน 50,000 บาท ระดับรองผอ.ศูนย์ ปัจจุบันได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 22,000 บาท ควรที่จะมีเงินเดือน 70,000 บาท ระดับผอ.ศูนย์ ปัจจุบันได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 35,000 บาท ควรที่จะมีเงินเดือน 100,000 บาท ข้าราชการระดับสูงของกระทรวง ปัจจุบันได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 50,000 บาท ควรที่จะมีเงินเดือน 150,000 บาทและข้าราชการการเมืองปัจจุบันได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 71,000 บาท ควรที่จะมีเงินเดือน 300,000 บาท
ค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสมมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการทุจริต แต่อย่างไรก็ตามหากมีการปรับขึ้นค่าตอบแทนแล้ว การตรวจสอบอย่างเข้มงวดและการลงโทษที่เด็จขาดจะต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วยเช่นเดียวกัน โดยควรมีระบบให้หน่วยงานอื่นหรือภาคประชาชนตรวจสอบการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบการอนุมัติการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนของเจ้าหน้าที่โดยอาจให้ "กรมการปกครอง" เป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลในระบบ มิใช่ให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์เข้าถึงระบบและนำข้อมูลมาใช้ได้เอง
ประการสำคัญที่สุดคือการยึดทรัพย์ผู้กระทำการทุจริต การยึดทรัพย์จะทำให้ผู้กระทำการทุจริตไม่ได้รับทรัพย์สินใดๆ จากการทุจริตไป ทั้งยังเป็นการทำให้ ผู้อื่นไม่กล้าที่จะทำการทุจริต เพราะเมื่อถูกจับได้นอกจากจะถูกลงโทษทางอาญาตามกฎหมายแล้ว อาชญากรจะไม่ได้ทรัพย์สินใดๆ จากการทุจริตด้วย ซึ่งมาตรการยึดทรัพย์ที่เข็มแข็งนั้นจะส่งผลต่อการตัดสินใจของอาชญากรในด้าน "ความคุ้มค่าของการกระทำความผิด" และส่งผลให้การกระทำความผิดในกรณีอาชญากรรมคอปกขาวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน