Hot Topic!
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประกาศยกย่อง 7 บุคคลตัวอย่าง 'คนไทยตื่นรู้สู้โกง'
โดย ACT โพสเมื่อ Sep 08,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ - -
เมื่อวันที่ 6 ก.ย.61 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิด “คนไทย ตื่นรู้สู้โกง” มีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน คนรุ่นใหม่ทั้งเยาวชน และนักศึกษาจากหลากหลายสถาบันเข้าร่วมงานกว่า 3 พันคน
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนของครือข่ายองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ขอขอบคุณคนไทยทุกคนที่ร่วมแสดงพลังการเป็นคนไทย ตื่นรู้สู้โกง ต่อเนื่องจากการริเริ่มของคุณดุสิต นนทะนาคร เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาได้ทำงานอย่างหนัก เพื่อเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งที่จะผลักดันให้การโกง ไม่ว่ารูปแบบใด ก็ยอมรับไม่ได้ในสังคม พร้อมทั้งปลุกกระแสให้คนไทยไม่ทนกับการโกงและลุกขึ้นมา ตื่นรู้สู้โกง
อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดการผลักดันมาอย่างต่อเนื่องถึง 7 ปี แต่ผลที่ได้คือการจัดอันดับประเทศที่ดำเนินการต่อต้านคอร์รัปชัน หรือดัชนี CPI ที่ประกาศไปเมื่อต้นปีนี้ ประเทศไทยได้ 37 คะแนนจาก 100 คะแนน ซึ่งถือว่าดีกว่าปี 2560 เล็กน้อย แต่หากย้อนหลังไปหลายปี คะแนนดัชนีการต่อต้านคอร์รัปชันก็อยู่ในระดับ 35 -38 มาตลอด สะท้อนว่าภาพของประเทศไทยยังไม่สามารถก้าวผ่านปัญหาคอร์รัปชันไปได้เลย
นายประมนต์ กล่าวอีกว่า ปัญหาการคอร์รัปชันถือเป็นงานใหญ่ที่ทุกคนจะต้องมาช่วยกันและลงมือทำจริงๆ อย่าให้ใครมาหยามได้ว่า เรื่องต่อต้านคอร์รัปชันมีแต่คนพูดแต่ไม่มีคนทำ ดังนั้น คนไทยต้องลงมือกันทุกภาคส่วน ภาคการเมืองก็ต้องมีนโยบายที่นำไปสู่การปฏิบัติในด้านการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม อย่างเช่นรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีแนวทางที่ดี แต่การปฏิบัติยังคงพบว่ามีจุดอ่อนอยู่บ้าง และคาดหวังว่าจะเห็นการดำเนินการที่ไม่เลือกปฏิบัติและจริงจังต่อไป
“ในฐานะข้าราชการ ต้องไม่นิ่งเฉย ยอมให้เกิดการโกงกินภายใต้งานที่ดูแล โดยเฉพาะการโกงเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง ที่มีหลายตัวอย่างให้เห็นว่า การนิ่งเฉย อาจต้องรับเคราะห์แทน ในฐานะภาคเอกชนเป็นไปได้หรือไม่ที่ในองค์กรจะตั้งเป้าหมายว่าไม่จ่ายสินบน และเยาวชนจะต้องแสดงพลังให้ผู้ใหญ่เห็นว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้ต้องการการโกง ผมก็มีความเชื่อว่า กงล้อของการ ตื่นรู้สู้โกง ไม่ใหญ่เกินกว่าที่พลังของพวกเราทุกคน ณ ที่นี้ ถ้าเราพร้อมใจกันลุกขึ้นมาทำต่อ เราจะสามารถผลักดันให้มันเริ่มขยับได้ และหมุนต่อเนื่องไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อย่าให้ใครมาหยามว่าเรื่องต้านคอร์รัปชัน มีแต่คนพูด ไม่เห็นมีคนทำ ดังนั้น พอแยกย้ายกันกลับไปแล้ว เราต้องช่วยกันทำมันทุกวัน ตื่นรู้สู้โกง ทุกๆ วัน ให้พวกโกงไม่มีที่ยืนบนแผ่นดินไทย” นายประมนต์กล่าว
ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ปลุกพลังคนไทยสู้โกง” โดยใจความตอนหนึ่งของปาฐกถา ระบุว่า นอกจากการต่อต้านคอร์รัปชันแล้ว สังคมไทยยังจำเป็นจะต้องสร้างคนดีขึ้นมาเพิ่มเติมในสังคม ตลอด 7 ปีของการทำงานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น จะเห็นภาพได้ว่าคนที่มีความรู้มากจะมีการโกงที่พิสดารไม่น้อย แต่คนที่ความรู้น้อยก็โกงด้วยเช่นกัน ประเด็นสำคํญคือการสร้างธรรมะในใจเพื่อไม่ให้เกิดการโกง
“คนเราหากไม่อายเสียอย่างก็โกงได้หมด ผมเคยพูดคุยกับคนต่างชาติที่ได้วิเคราะห์ประเทศต่างๆ ในอาเซียน ซึ่งระบุว่า ประเทศสิงคโปร์มีความโปร่งใส ขณะที่ประเทศไทยมีการโกงคอร์รัปชันเยอะมาก และประเทศไม่ได้เสียหายแค่เรื่องเงินเท่านั้น แต่บริษัทข้ามชาติที่ต้องการมาลงทุนด้วยความโปร่งใส ก็ไม่อยากจะมาลงทุน ดังนั้น ก็จะมีแต่คนโกงที่จะเข้ามาทำงานกับคนโกงด้วยกันเท่านั้น ความเสียหายเกิดขึ้นมาก”
ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าวอีกว่า เราจะเอาความคิดไม่โกงไม่ทุจริตไปสอนลูกหลานได้หรือไม่ หรือเมื่อเห็นการโกงก็ต้องไม่อดทนและพร้อมจะเปิดโปง ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นพลเมืองดี เห็นอะไรทำเพื่อบ้านเมืองได้ก็ทำ เริ่มปลูกฝังกันตั้งเด็กได้จะดีมาก แต่หากเราปล่อยให้เด็กเริ่มโกงข้อสอบ โกงการบ้าน หรือลอกการบ้านเพื่อน ทุกอย่างก็จะผิดหมดเลย เราต้องเริ่มใหม่ทั้งจากที่บ้านที่พ่อแม่คอยอบรมลูกหลาน และที่ทำงานที่หัวหน้างานก็ต้องคอยปลูกฝังพนักงาน
“การต่อต้านการโกงต้องเริ่มจากเด็ก และโรงเรียน รวมถึงชุมชนที่ต้องปลูกฝังให้เด็กเยาวชนปฏิเสธความชั่ว ยึดมั่นในความถูกต้องเที่ยงธรรม และอยู่ในกฎกติกาข้อกฎหมาย ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่ายกย่องมากกว่าการปลูกฝังให้ละเลยกับปัญหาการทุจริต การทำงานต่อต้านโกงเป็นเรื่องที่ยาก และจะสำเร็จเมื่อใดก็ขึ้นอยู่กับคนไทยในปัจจุบันและอนาคตว่าจะต่อต้านอย่างแข็งขันต่อเนื่องได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม ขอฝากพระบรมราโชวาทของในหลวง ร.9 ที่รับสั่งว่า ”ช่วยสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง การสร้างคนดีเป็นเรื่องที่ยากและยาว แต่ก็ต้องทำ ขอให้ถือเป็นหน้าที่” ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าว
สำหรับบรรยากาศภายในงาน ยังมีการฉายวีดีทัศน์เกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันหลากหลายรูปแบบ ที่เกิดการตรวจสอบและถูกเปิดโปงจากภาคประชาชนที่นำไปสู่การสอบสวนและเข้าสุ่กระบวนการยุติธรรม อาทิ เรื่องการจัดซื้อไมค์ของรัฐสภาที่ราคาสูง โครงการจำนำข้าว คดีการทุจริตก่อสร้างโรงพัก และโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลในโรงเรียน เป็นต้น และยังมีการประกาศยกย่อง 7 บุคคลตัวอย่าง “คนไทยตื่นรู้สู้โกง” ประกอบด้วย
1.น.ส.ปณิดา ยศปัญญา อดีตนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
2.น.ส.ณัฐกานต์ หมื่นพล ที่เปิดโปงการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่ง
3.นายปรารภ เหมทานนท์ ที่เปิดโปงการทุจริตภาครัฐไม่น้อยกว่า 270 กรณี หนึ่งในนั้นคือ ปรากฎการณ์ “ขนมจีนคลุกน้ำปลา” จนนำไปสู่การตรวจสอบอย่างจริงจัง
4. พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา ข้าราชการไทยตัวอย่างผู้กวาดล้างทุจริตเงินทอนวัด ที่เชื่อมโยงระหว่างข้าราชการกับพระชั้นผู้ใหญ่จำนวนมาก
5. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี ข้าราชการผู้เปลี่ยนแปลงระบบบริการประชาชนเกี่ยวกับคดีการยึดทรัพย์สิน และการเฉลี่ยคืนทรัพย์สินรวดเร็ว ด้วยความโปร่งใส ขจัดผลประโยชน์ที่เกิดจากการรีดไถรับส่วยสินบนของกลุ่มข้าราชการได้อย่างเป็นรูปธรรม
6. นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ข้าราชการระดับผู้นำองค์กร ที่ลงมือทำเป็นแบบอย่างด้วยความมุ่งมั่นเพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นองค์กรที่เข้มแข็งและรับผิดชอบ ปลุกพลังองค์กรให้ตื่นรู้สู้โกง สู้ทุกคน สู้ทั้งองค์กร และ
7. นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่กวาดล้างขบวนการโกงเงินช่วยเหลือการศึกษา กองทุนเสมาเพื่อพัฒนาชีวิต และหลายคดีทุจริตในกระทรวง ซึ่งทั้ง 7 คนได้เข้ารับโล่เชิดชูเกียรติคุณจากนพ.เกษม
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า เรื่องคอร์รัปชันไม่ได้หนักใจกับการทำงาน เพราะเป็นคนตรงไปตรงมา และทุกอย่างต้องถูกต้องตามหลักนิติธรรม อย่างไรก็ตาม การแก้ป้ญหาคอร์รัปชันนั้นจะต้องมีมาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด อย่างเช่นเรื่องทุจริตเงินอุดหนุนกองทุนเสมา ก็มีเจ้าหน้าที่มาแจ้งข้อมูลข่าวสารว่ามีการทุจริตมาช้านาน ผู้บริหารจึงเข้าไปตรวจสอบและนำไปสู่การทุจริตครั้งใหญ่ของการศึกษา
นางสาวรื่นวดี กล่าวว่า ขอมอบรางวัลนี้ให้กับพี่น้องพนักงานกรมบังคับคดีทั่วประเทศ เพราะถือได้ว่าเป็นกำลังหลักในการทำงานร่วมกันอย่างโปร่งใสในการจัดการทรัพย์สินของกรมบังคับคดี ทั้งนี้ การดำเนินการจะยึด 4 หลัก คือ 1.ซื่อสัตย์ 2.สุจริต 3.โปร่งใส และ 4.เป็นธรรม ซึ่งเมื่อทำได้จะตอบโจทย์ทั้งผลประโยชน์ของประชาชน และผู้ที่ต้องการลงทุน
ด้าน น.ส.ปณิดา กล่าวว่า ได้เห็นปัญหาต่างๆ มากมายจากการฝึกงานที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น ทั้งความลำบากคนไร้ที่พึ่ง หรือแม้แต่ชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำอยู่อย่างยากลำบาก จึงเป็นแรงบรรดาลใจให้ลุกขึ้นมาสู้เพื่อสิทธิของคนกลุ่มนี้ แน่นอนว่า มีปัญหาหลังเปิดโปงการทุจริตก็มีคนมาคุกคาม แต่ก็ต้องวางแผนรับมือเพื่อให้ใช้ชีวิตได้เป็นปกติ
น.ส.ณัฐกานต์ กล่าวว่า จาการทำงานทำให้เห็นเความลำบากของชาวบ้าน จึงเป็นแรงบรรดาลใจให้ออกมาต่อสู้เพื่อพวกเขา แม้ขณะทำงานจะมีตำแหน่งเล็กๆ แต่ก็มีหน้าที่สำคัญที่ต้องดูแลชาวบ้านโดยตรง และสิทธิ์ที่เขาควรจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐก็ต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง เพราะชีวิตของพวกเขานั้นลำบากอยู่แล้ว การคอร์รัปชั่นจึงไม่ควรจะเกิดขึ้น
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน