Hot Topic!
ข้อตกลงคุณธรรม ทำอะไรได้จริงหรือ
โดย ACT โพสเมื่อ Aug 15,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -
คอลัมน์ ต่อต้านคอร์รัปชัน : โดย รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
ท่านผู้อ่านน่าจะเคยได้ผ่านหูผ่านตากับ โครงการข้อตกลงคุณธรรมที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ที่ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เป็น ผู้สังเกตการณ์อิสระเข้าไปเป็นหูเป็นตาให้ประชาชนในการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่มีข่าวที่มีผู้สังเกตการณ์อิสระ 6 คน ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดาวเทียม THEOS-2 มูลค่ากว่า 7 พันล้านบาท ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISDA) แจ้งขอลาออกทั้งหมด เพราะไปพบว่ามีขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงคุณธรรม แต่เมื่อแจ้งเตือนไปกลับไม่ได้รับความสนใจอย่างใด
ผู้ที่อ่านข่าวแบบนี้อาจมีความรู้สึก 2 อย่างพร้อมๆ กัน อย่างแรกคือรู้สึกดีที่มีคนมาช่วยดูแลไม่ให้หน่วยงานรัฐโกงเงินภาษีของเรา และอย่างที่สองคือกลุ้มใจว่าถึงมีคนมาช่วยดูก็เหมือนจะไม่สามารถป้องกันการทุจริตได้ ผมจึงตั้งใจเขียนบทความตอนนี้มายืนยันกับท่าน ผู้อ่านว่าอย่ากลุ้มใจไปครับ เพราะข้อตกลง คุณธรรมนี้สามารถช่วยทำให้การประมูลจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐโปร่งใสไร้ข้อครหาเรื่องการทุจริตได้จริง
ข้อตกลงคุณธรรม มาจากระบบของต่างประเทศที่ชื่อว่า Integrity Pact ที่พัฒนาโดยองค์กรความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ระบบนี้ใช้กันมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 90 และได้ผลลัพธ์ที่ดีมาแล้วในกว่า 15 ประเทศทั่วโลก ข้อตกลงคุณธรรมนี้ไม่ใช่แค่มาทำพิธีลงนามข้อตกลงกันว่าทุกฝ่ายในโครงการจะทำงานอย่างตรงไปตรงมา แต่มีการเปิดให้มีผู้สังเกตการณ์อิสระที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างนั้นเข้าไปนั่งในการประชุมสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการประชุมร่างเงื่อนไขการประมูล ที่เราเรียกกันว่า ทีโออาร์ (Term of Reference: TOR) หรือ อาจรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า การประชุมวางสเปก ซึ่งสำคัญมากต่อผลการประมูล สมัยก่อนเป็นที่รู้ทั่วกันว่าถ้าจะให้ผลการประมูลออกมาให้ใครได้งาน ก็ต้องวิ่งในขั้นวางสเปกนี่ล่ะครับ ดังนั้นถ้าการประชุมวางสเปกเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาโดยยึดหลักผลประโยชน์ของรัฐเป็นสำคัญ ก็จะทำให้ผลการประมูลคุ้มค่าและหน่วยงานรัฐนั้นจะได้ของที่เหมาะสมที่สุด ครั้งหนึ่งตอนที่คณะผู้สังเกตการณ์อิสระเข้าไปทำหน้าที่ในโครงการจัดซื้อเครื่องจักรผลิตบุหรี่ของโรงงานยาสูบ ช่วยตรวจสอบให้ TOR มีความชัดเจนและเหมาะสมกับการใช้งานจริงมากขึ้นโดยไม่มีการล็อกสเปก ปรากฏว่าสามารถช่วยลดราคาเครื่องจักรที่ซื้อจริงลงไดัถึง 2 พันกว่าล้านบาทจากงบประมาณที่ตั้งไว้แต่แรก
จุดสำคัญอีกจุดหนึ่งซึ่งคณะ ผู้สังเกตการณ์อิสระให้ความสนใจมากคือ ที่มาของราคากลาง ซึ่งปัจจุบัน ป.ป.ช. ใช้กฎหมายเข้มงวดให้ใส่ชื่อผู้ที่ทำราคากลางและรายละเอียดการคำนวณราคากลางไว้ใน TOR ด้วย ดังนั้น ผู้สังเกตการณ์อิสระที่ร่วมอยู่ในการประชุมพิจารณาราคากลางจึงสามารถตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างละเอียด ให้แน่ใจว่าที่มาของราคากลางนั้นโปร่งใส ไม่อยู่ในมือผู้มีอิทธิพลคนใดคนหนึ่งเช่นเดิมอีกต่อไป ผลที่เกิดขึ้นจริงก็คือราคากลางสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้นและโดยรวมลดลงอย่างมาก ในบางโครงการได้มากถึง 30 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ผลประโยชน์ในภาพรวมที่ประเทศไทยได้รับจากการมีข้อตกลงคุณธรรมเป็นเวลา 3 ปีตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ถึง พ.ศ.2560 ทั้งจากการที่ผู้สังเกตการณ์ป้องกันการล็อกสเปกและตรวจสอบที่มาของราคากลางนั้น คิดเป็นงบประมาณที่ลดลงรวมกันกว่า 6,467.4 ล้านบาท จาก 35 โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เฉลี่ยสามารถประหยัดเงินชาติไปได้ 19.52 เปอร์เซ็นของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างแต่ละโครงการ ลองคิดดูว่าถ้าสามารถทำข้อตกลงคุณธรรมนี้ได้กับทุกโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งในแต่ละปีเป็นเงินสูงกว่า 8 แสนล้านถึง 1 ล้านล้านบาท ประเทศไทยจะเหลือเงินเยอะแค่ไหนมาเป็นสวัสดิการแก่ประชาชนอย่างพวกเรา
สาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ข้อตกลงคุณธรรมประสบความสำเร็จ สามารถรักษาเงินภาษีของพวกเราได้มากขนาดนี้ คือความเชี่ยวชาญของคณะผู้สังเกตการณ์อิสระที่ปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 243 คน โดยบุคคลเหล่านี้เป็นอาสาสมัครที่ได้รับการคัดเลือกมาจากสมาคมวิชาชีพต่างๆ ทั้ง บัญชี วิศวะ สถาปัตย์ บางท่านก็มาจากข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว หรือมาจากผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะด้าน ผู้สังเกตการณ์เหล่านี้ต้องผ่านการอบรมอย่างเข้มข้นเป็นเวลา 1 สัปดาห์กับวิทยากรจากต่างประเทศที่มีประสบการณ์และผู้เชี่ยวชาญคนไทยที่เคยปฏิบัติหน้าที่นี้มาแล้ว ผู้สังเกตการณ์อิสระเหล่านี้ถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชนที่เข้ามาร่วมดูแลรักษาผลประโยชน์ของประเทศ มีกฎหมายระบุให้การรับรองตามตามเจตนารมณ์ของมาตรา 63 ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2560 และอยู่ภายใต้การสนับสนุนและดูแลของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ทั้งนี้ผู้สังเกตการณ์อิสระต้องไม่มีส่วนได้เสียในการจัดซื้อจัดจ้างและไม่มีสิทธิในการตัดสินใจใดๆ เพื่อป้องกันการเอนเอียงไม่เป็นกลางของผู้สังเกตการณ์เอง
อีกปัจจัยหนึ่งคือความร่วมมือของหน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการ โดยตลอดระยะเวลาที่มีการใช้ข้อตกลงคุณธรรมนี้มาก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหลายๆ หน่วยงานราชการ หากคณะ ผู้สังเกตการณ์อิสระสังเกตพบข้อน่าสงสัยหรือการกระทำที่ผิดไปจากกฎระเบียบก็จะเริ่มจากการทักท้วงหรือแสดงข้อกังวลในสิ่งที่พบเห็นทางวาจาแล้ว แต่หากไม่ได้รับการตอบสนองก็จะออกหนังสือแจ้งเตือนเป็นทางการ เรียกว่า รายงานแจ้งเตือน (Notification Report) หากมีการแจ้งเตือนแล้วหลายครั้ง แต่หน่วยงานยังเพิกเฉย อยู่ ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดาวเทียม THEOS-2 ของ GISDA นี้ ผู้สังเกตการณ์ก็จะรายงานให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) รับทราบการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงคุณธรรม เพื่อพิจารณาดำเนินการส่งเรื่องต่อหน่วยงานนั้นอีกครั้งในนามองค์กร สุดท้ายหากหน่วยงานนั้นรับรู้แล้วแต่ยังไม่ดำเนินการใดๆ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ก็สามารถใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 63 ยื่นเรื่องในฐานะภาคประชาชนต่อ ป.ป.ช. และ ส.ต.ง. ให้พิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงต่อไปได้
ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าข้อตกลงคุณธรรมนั้นเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิผลจริงในการป้องกันการทุจริตและได้แสดงผลให้เห็นมาแล้วเป็นการประหยัดเงินภาษีของเราจำนวนมหาศาลจากการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สำหรับหน่วยงานรัฐที่ไม่ให้ความร่วมมือและเพิกเฉยต่อการเตือนของผู้สังเกตการอิสระเหล่านี้ก็มีมาตรการรองรับเป็นขั้นๆ อยู่แล้ว โดยมีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เป็นผู้สนับสนุน จึงวางใจได้ในข้อตกลงคุณธรรมและสมควรให้การสนับสนุนด้วยกำลังใจและการแชร์ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงคุณธรรมให้คนไทยทุกคนได้รับรู้
#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน