Hot Topic!

ปัญหาทุจริต

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 20,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -

 

องค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International)ได้นิยามคำว่า "คอร์รัปชัน (Corruption)" คือ การใช้อำนาจที่ได้มาโดยหน้าที่แสวงหาประโยชน์ส่วนตัว หรือการทุจริตโดย ใช้หรืออาศัยตำแหน่งอำนาจ และหน้าที่ที่ตนมีอยู่ เพื่อประโยชน์แก่ตนเองและ/หรือผู้อื่น

 

ปัญหาการคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ นับวันมีแต่ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งเป็นปัญหา ที่ทุกประเทศต้องการขจัดให้หมดไป แต่เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ คงทำได้เพียงปราบปรามให้น้อยลง

 

การคอร์รัปชันมีอยู่ 3 ประเภท คือ

 

(1) การคอร์รัปชั่น ขนาดเล็ก การรับเงินที่ไม่ชอบธรรม หรือไม่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่จำนวนเงินไม่มาก เพื่อดำเนินการบางอย่างให้กับผู้ที่ให้เงิน

(2) การคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ ส่วนมากจะเป็นการคอร์รัปชั่น ของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ที่รับเงินในรูปแบบของสินบนเป็นเงิน จำนวนสูงในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่

(3) การให้ของกำนัล ที่มีมูลค่า เช่น รถยนต์ สร้อยคอทองคำ ซื้อรายการท่องเที่ยวให้ไปพักผ่อนต่างประเทศ หรือเชิญรับไปพักผ่อนต่างประเทศ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิด

 

หนึ่งในกฎหมายที่เกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่น คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554 และฉบับที่ 3 พ.ศ. 2558) โดยมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อันเป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ และมีฐานะเป็น กรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หน้าที่สำคัญของป.ป.ช. ได้แก่ กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่งและชั้นหรือระดับของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สินตรวจสอบความถูกต้อง และความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งตรวจสอบความ เปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สิน ไต่สวนและวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติที่กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

 

มาตรการด้านการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและ หนี้สิน ถือเป็นแนวทางในการควบคุมปัญหาคอร์รัปชัน เพราะการยื่น บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน จะนำไปสู่กลไกการตรวจสอบทรัพย์สิน บทบาทในการตรวจสอบทรัพย์สินจึงถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญของ ป.ป.ช. โดยผู้ที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งที่เป็นข้าราชการการเมือง ข้าราชการการเมืองท้องถิ่น และข้าราชการประจำระดับสูง

 

ผู้ที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ต้องแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตร ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ที่มีอยู่จริงภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งทรัพย์สินที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่น หรือให้บุคคลอื่นถือแทน ในกรณีที่ให้บุคคลอื่นถือแทน ต้องมีหนังสือรับรองจากผู้ครอบครองหรือผู้ถือแทนว่า ทรัพย์สินนั้นเป็นของผู้ยื่น คู่สมรสหรือบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

 

สำหรับเวลาการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ในกรณีผู้ดำรง ตำแหน่งทางการเมือง มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน 3 ครั้ง คือ

 

(1) กรณีเข้ารับตำแหน่ง

(2) กรณีพ้นจาก ตำแหน่ง

(3) กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ในกรณี เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีหน้าที่ต้องยื่น บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอย่างน้อย 3 ครั้ง เช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดอยู่ในตำแหน่งครบสามปี หรือห้าปี ต้องยื่นบัญชีในกรณีอยู่ในตำแหน่งครบสามปี หรือห้าปีด้วยทุกครั้ง

 

ปัจจุบันได้มีร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ... ที่ผ่านการ พิจารณาวาระที่ 3 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว อยู่ระหว่างการประกาศใช้บังคับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีหลายประเด็นที่สำคัญที่เพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติฉบับเดิม เช่น การเพิ่มหน้าที่ให้ ป.ป.ช. ต้องส่งเสริม และสนับสนุนให้ความรู้ แก่ประชาชนให้ทราบถึงผลกระทบและความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่น

 

ที่แปลกใหม่ คือ การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ต้องยื่นของภรรยาที่ไม่จดทะเบียนสมรส ที่นิยมเรียกว่า "กิ๊ก" หรือหญิงอื่นที่ได้รับการยกย่อง เมื่อมีกี่คน ต้องยื่นให้ครบทุกคน ทั้งนี้มีการกำหนดลักษณะของหญิงอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาตามกฎหมาย 3 ลักษณะ คือ (1) บุคคลที่ทำพิธีมงคลสมรสหรือพิธีอื่นใด โดยมีบุคคลภายนอกหรือบุคคลในครอบครัวรับทราบการอยู่กินเป็นสามีภรรยาตามประเพณี (2) บุคคลที่มีพฤติกรรมซึ่งเป็นที่รับรู้ ของสังคมทั่วไปว่า มีสถานะเป็นสามีภรรยากัน และ (3) บุคคล ที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยาซึ่งมีการอุปการะเลี้ยงดู แม้จะไม่เป็น ที่รับรู้ของสังคมทั่วไป แต่มีพฤติการณ์ในการรับรองบุตร

 

ร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ไม่ได้กำหนดให้เปิดเผย รายละเอียดทรัพย์สิน เช่น เลขทะเบียน ภาพถ่ายของทรัพย์สิน เพราะอาจสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัย แต่ได้เพิ่มตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เช่น ข้าราชการตุลาการในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาขึ้นไป ข้าราชการตุลาการศาลปกครอง ตำแหน่งอธิบดีศาลปกครองชั้นต้นขึ้นไป ข้าราชการอัยการตำแหน่งอธิบดีอัยการขึ้นไป รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง

 

ทั้งยังต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และผู้ถือครองแทน ไม่ว่าทรัพย์สินและหนี้สินจะมีอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม มีบางประเด็นที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ... มีช่องว่างในเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ครอบคลุม แต่เฉพาะบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ น่าจะเป็นการดี หากแก้ไข ให้บุตรที่บรรลุนิติภาวะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วย เพื่อป้องกันการฝากทรัพย์ไว้กับบุตรที่บรรลุนิติภาวะ

 

การให้สินบนเป็นเรื่องของสองฝ่าย คือ ผู้ให้และผู้รับ แม้จะมีกฎหมายออกมาเพื่อปราบปรามการทุจริตกี่ฉบับ แต่ถ้าประชาชนคนไทย ร่วมมือกันไม่ให้สินบน ย่อมทำให้วงจรทุจริตและคอร์รัปชันค่อยๆ ลดลง

 

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw