Hot Topic!
รัฐวิสาหกิจอุดช่อง ชูองค์กรต้านคอร์รัปชัน
โดย ACT โพสเมื่อ Jul 13,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยรัฐ - -
“รัฐวิสาหกิจ”...ระดับสากลให้น้ำหนักในเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเอาไว้มาก การปฏิรูปตัวรัฐวิสาหกิจ ด้วยการเสนอกฎหมายเพื่อกำกับดูแล มีไอเดียสำคัญว่า...ทำอย่างไรให้การเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจแยกออกมาจากเงื้อมมือของ “นักการเมือง”
รพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เปิดประเด็นปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนา “ความรับผิดชอบและแนวปฏิบัติขององค์กรธุรกิจเอกชนในการป้องกันและต่อต้าน การทุจริตคอร์รัปชัน” ที่โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆนี้
คำถามมีว่า ในวันวานทำไม? บ้านเราถึงมีการจัดกระทรวงเป็นเกรดเอ บี ซี...ซึ่งแน่นอนว่าเกรดเอหมายถึงว่าได้รับงบประมาณสนับสนุนมาก กระทรวงศึกษาธิการไปอยู่ที่ไหน...ทำไมต้องเป็นเช่นนั้น
“ยิ่งงบมากยิ่งเป็นช่องทางให้นักการเมืองเข้ามาแล้วก็ทำทุจริตคอร์รัปชัน วิธีการอย่างแรกก็คือเวลารัฐบาลใดเข้ามาก็จะเปลี่ยนกรรมการรัฐวิสาหกิจหมดเลย กรรมการยกแผงลาออก คำถามตามมาทำไมต้องลาออก ก็เพราะถูกกระซิบให้ลาออก ไม่อย่างนั้นก็ถูกปลด แล้วก็มีการแต่งตั้งกรรมการที่เป็นคนของตัวเองเข้ามา” รพี ว่า
...เป็นอย่างนี้จนกลายเป็น “วังวน” ให้เห็นกันอยู่เนืองๆ
ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น การแต่งตั้งเข้ามานั้นนึกภาพไม่ออกเลยว่าบางคนเข้ามาแล้วจะมาทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน น่าสนใจว่าเคยมีการแต่งตั้งนางพยาบาลซึ่งเป็นภรรยาหรือเป็นลูกของหัวคะแนนเข้ามาเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจที่กำกับดูแลเรื่องเกี่ยวกับท่าอากาศยาน?
ถึงแม้ว่ามีความพยายามที่จะสร้างกติกากรอบป้องกัน สกรีนกรรมการที่จะแต่งตั้งเข้ามา อย่างเช่นว่าต้องมีนักกฎหมาย ก็มีส่งเข้ามา แต่ปัญหามีว่านักกฎหมายที่เข้ามานั้นไม่เคยทำคดี ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับธุรกรรมเรื่องพวกนี้เลย แต่กลายเป็นนักกฎหมายที่ว่าความคดีปล้นฆ่าข่มขืน แล้วจะเข้ามาทำงานได้อย่างไรกับธุรกิจรัฐวิสาหกิจที่ต้องแข่งขันกับต่างประเทศ... “พอเริ่มเละตั้งแต่ข้างบน ที่เหลือไม่ต้องพูดถึง...เละแน่นอน ก็เลยนำไปสู่ความพยายามที่จะตั้งบริษัทโฮลดิ้งคอมพานีขึ้นมา แล้วแยกการถือหุ้นของบริษัทรัฐวิสาหกิจออกมา โดยไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติใคร พร้อมระบุให้มีกรรมการที่ทรงคุณวุฒิมาคอยดู บริหาร”
คุ้นๆไหม? คือโมเดลที่ทำในประเทศสิงคโปร์ที่มองว่าทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจไม่ใช่ทรัพย์สินของรัฐบาลแต่เป็นทรัพย์สินของประเทศ ฉะนั้นการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจควรจะแยกออกไป ปราศจากการบริหารจัดการของประเทศ แล้วให้ผู้ถือหุ้นรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ใช้สิทธิ์ออกเสียงในฐานะผู้ถือหุ้น เพื่อการแข่งขันในระดับประเทศ
แนวทางนี้คลอดออกมาก็มีคนออกมาประท้วงเยอะมาก โดยเฉพาะสหภาพ...เอ็นจีโอ ด้วยเพราะทุกคนมองว่า “รัฐวิสาหกิจ” เป็นของรัฐห้ามโอนหุ้นไปให้คนอื่นโดยเด็ดขาด เลยกลายเป็นว่าแสดงว่าคุณจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจกันทางอ้อมใช่ไหม ประท้วงกันยกใหญ่ กฎหมายนี้ก็เลยยังค้างอยู่ที่สภาฯ
เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดีจริงๆควรจะเริ่มที่ตัวบริษัทเอง เริ่มตั้งแต่คณะกรรมการบริษัทเอง เป็นคนที่มีอำนาจสูงสุดในการวางผลกระทบของตัวบริษัทเหล่านี้ ถ้าไม่มีความสามารถ ไม่มีความชัดเจนหรือเข้ามาเพื่อที่จะมาขับเคลื่อนโครงการอะไรบางอย่างก็แล้วแต่ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มใดๆในตัวองค์กรเลย แต่ก่อให้เกิดผลประโยชน์กับใครสักคนที่เข้ามาคุมรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทนั้น
ก็คือการ...“ทุจริต” “คอร์รัปชัน”
“การทุจริต” หมายถึงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งหรือหน้าที่การงาน หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่า มีตำแหน่งหรือหน้าที่การงานทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่การงานนั้น หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่การงาน ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบ
ต้องยอมรับว่าการให้ “สินบน” เป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก ท่ามกลางการติดต่อสื่อสารและการค้าการลงทุนที่ไร้พรมแดนในปัจจุบันทำให้ปัญหานี้ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาภายในประเทศเท่านั้น
หากแต่ยังขยายไปถึงการให้สินบนเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการแข่งขันทางการค้า ตลอดจนความเสื่อมถอยของสภาพสังคมและเศรษฐกิจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
“ประเทศไทย” นับว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีปัญหานี้มายาวนานโดยเฉพาะในบริบทของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มักมีผลประโยชน์มหาศาล แต่ที่ผ่านมา “กฎหมาย” ของไทยมีบทบัญญัติเอาผิดเพียงแค่การให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐไทย ไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ
รวมทั้งไม่มีบทบัญญัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเอาผิดกับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนดังกล่าว ทั้งๆที่นิติบุคคลนั้นเองเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการให้สินบน
ด้วยปัญหานี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558) จึงได้มีการเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา 123/5 เพื่อกำหนดความรับผิดสำหรับบุคคลที่ให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ
รวมทั้งกำหนดความรับผิดเฉพาะสำหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนดังกล่าว โดยกฎหมายใหม่ได้มีการกำหนดโทษปรับที่มีมูลค่าสูง เพื่อให้รัฐได้รับการเยียวยาความเสียหาย เพื่อเอาประโยชน์ที่นิติบุคคลได้ไปโดยมิควรได้คืนและเพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำความผิด
ทั้งนี้...การกำหนดฐานความผิดนี้ยังสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งมีบัญญัติไว้ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศขององค์การ เพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ค.ศ.1997
น่าสนใจอีกว่า...มาตรา 123/5 ไม่ได้กำหนดให้นิติบุคคลต้องมีความรับผิดชอบเด็ดขาดทุกกรณีที่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลได้ให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยหากนิติบุคคลนั้นมีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้การให้สินบน นิติบุคคลนั้นก็จะไม่มีความผิดตามมาตรานี้
“หากผู้ที่อยู่ในระดับบริหารสูงสุดไม่มีเจตนารมณ์ในการต่อต้านการให้สินบนหรือไม่เห็นด้วยกับการจัดทำมาตรการดังกล่าว นิติบุคคลก็ไม่อาจจัดทำมาตรการได้อย่างประสบผลสำเร็จ”
เมื่อเป็นเช่นนี้ชัดเจนว่า...แนวทางต่อต้านการ “ทุจริต...คอร์รัปชัน” บทบาทหน้าที่ของกรรมการจะต้องเป็นเสาหลักดูแลเกี่ยวกับความยั่งยืนขององค์กร มีระบบควบคุมภายใน แต่แรงขับเคลื่อนที่จะเกิดขึ้นภายในต้องเริ่มจากความรู้สึกที่ว่ามันดีสำหรับตัวเขา มากกว่าที่บอกว่ามีใครมาคอยกำกับดูแล ตรวจสอบ
รพี สุจริตกุล ย้ำว่า จริงๆแล้วเรื่องการกำกับดูแลเป็นเรื่องระยะยาว การคอร์รัปชัน ให้สินบนคือปัญหาระยะสั้นที่ต้องแก้ แต่ระยะยาวต้องย้อนกลับมาแล้วคิดว่าจะทำอย่างไรในการที่จะบริษัทควรจะมีกฎกติกาในการกำกับ ป้องกันสิ่งเหล่านี้ได้ ที่ต้องเน้นย้ำคือ...องค์กรใดมุ่งไปสู่ความยั่งยืนในระยะยาวมากน้อยแค่ไหน? อย่างไร?
บทสรุปปัญหา “คอร์รัปชัน” เป็นเรื่องของพวกเราทุกคน ไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานรัฐฝ่ายเดียว ไม่ใช่แค่ ป.ป.ช.รับผิดชอบ หาก “คนไทย” ไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อเป็นพลังผลักดัน “คอร์รัปชัน” ไม่มีทางที่จะหายไป แล้วก็จะเป็นอะไรที่เป็น “มะเร็ง” ร้ายทำลายประเทศชาติในที่สุด
#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน