Hot Topic!
รู้จักพอเพียง(Sense of Sufficiency)
โดย ACT โพสเมื่อ Jul 09,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก โพสต์ทูเดย์ - -
คอลัมน์ คิดเป็นเห็นต่าง : โดยดร.ปิยะพันธ์ ทยานิธิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ
คำว่า รู้จัก (Sense) ในที่นี้ใช้ในความหมายที่มี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ หนึ่ง รู้เข้าใจหลักการแนวคิดความหมายความจริงนัยสารัตถะ คือคิดเป็น (Think) สอง อธิบายบรรยายถ่ายทอดเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจได้ คือพูดเป็น (Talk) และสุดท้าย ประยุกต์ประพฤติปฏิบัติปรับเปลี่ยนพัฒนาวิวัฒน์การดำเนินชีวิตจากความรู้ความเข้าใจในทุกกิจกรรม คือทำเป็น (Task) ทั้งมโนกรรม วจีกรรม และกายกรรม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Philosophy of Sufficiency Economy) ไว้ให้เป็นหลักคิดเตือนสติคนไทยในการเผชิญหน้าและแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ชื่อเรียกนี้อาจทำให้เข้าใจผิดว่ามีขอบเขตเฉพาะเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่แค่ทรัพยากรรูปธรรม ดิน น้ำ ลม ไฟ ป่าไม้ เท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้วมีรากฐานเป็นหลักคิดความพอเพียง มีโครงสร้างเป็นปรัชญาชีวิต ผลิดอกออกผลเป็นวิถีชีวิตคุณภาพ พร้อมด้วยศักยภาพ พลวภาพ และอิทธิพลอานุภาพอันยิ่งใหญ่กว้างขวาง ปกคลุมแผ่กระจาย ขยายวงหยั่งรากลงลึก ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล องค์กร ธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม จนถึงประเทศ ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่แปรเปลี่ยน แต่มีนัยละเอียดอ่อนลึกซึ้งยิ่ง จึงควรเรียกให้ครอบคลุมสมบูรณ์ว่า ปรัชญาความพอเพียง (Sufficiency Philosophy) ซึ่งเพียบพร้อมด้วยหลักทฤษฎีและแนวปฏิบัติ อนึ่ง เพื่อให้สะดวกกระชับสะท้อนความใกล้ชิดติดตัวกับชีวิตประจำวัน จึงขอเรียกอย่างง่ายว่า ความพอเพียง หรือย่อว่า พอเพียง (Sufficiency)
พอเพียง ถูกอ้างอิงถึงกันทั่วไป ถูกน้อมนำมาใช้ในหลายสาขาหลายระดับ มีกรณีศึกษาตัวอย่างสาธิตแสดงผลสำเร็จมากมาย ไม่ใช่แค่เรื่องเกษตรกรรมซึ่งเห็นได้ชัดเจน แต่ด้วยความเรียบง่ายของคำศัพท์ กอปรกับนัยเชิงจำกัดควบคุมอิสรเสรีและการตามใจตัวเอง จึงอาจทำให้สังคมมองข้ามความสำคัญจำเป็นว่าต้องรู้จักพอเพียง คือสนใจใส่ใจศึกษาเรียนรู้ทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ มุ่งมั่นแน่วแน่จริงจังในการนำมาใช้ประโยชน์
อีกสาเหตุหนึ่งอาจเนื่องมาจากทิฐิสังขาร การปรุงแต่งตามปกติของคนธรรมดา เช่น ความยึดติดเคยชินคุ้นเคยกับของเดิม (Status Quo) ความเฉื่อยชาต่อการแสวงหาเรียนรู้ของใหม่ (Inertia) ความกลัวภัยเสี่ยงอันตราย (Aversion) ความต้านทานต่อต้านปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง (Resistance) เป็นต้น รวมถึงตัณหาอุปาทาน
ยาดีมักมีรสชาติไม่ถูกปากคนฉันใด คติดีมักมีลีลาสีสันไม่ถูกจริตปุถุชนฉันนั้น การประชาสัมพันธ์ที่ผ่านมาอาจเป็นส่วนหนึ่งของกระแสนิยมของสังคม โดยเฉพาะระดับนโยบาย พูดกันมากแต่ทำกันน้อย เห็นเป็นเรื่องไกลตัวห่างตัว จึงยังไม่ส่งผลดีอย่างมีนัยสำคัญต่อทัศนคติค่านิยมนิสัยสำนึกของคนทั่วไป โดยเฉพาะระดับประเพณีและวัฒนธรรม อันอาจจัดว่าเป็นการถือปฏิบัติจริงอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับการปกครอง กำกับดูแลกิจการ บริหารจัดการ ควบคุม ลงมาจนถึงระดับปฏิบัติการ
คำว่า พอ ได้แก่ พอดี พอควร พอเหมาะ พอสม พอประมาณ คือบรรลุวัตถุประสงค์เป้าหมาย ส่วนคำว่า เพียง ได้แก่ แค่ เท่า เสมอ เหมือน คือถึงพร้อมพอดีครบถ้วนสมบูรณ์ตรงตามเงื่อนไขปัจจัย กุศลความดีไม่ขาด (Recessive) กิเลสความไม่ดีไม่เกิน (Excessive) ช่วงพิกัดขาดเกินนี้ไม่แน่นอน ไม่คงที่ ไม่ตายตัว ตามหลักไตรลักษณ์ โดยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและมาตรฐานพัฒนาการ ทั้งทางคุณวุฒิ-สติปัญญา และทางคุณธรรม-จิตใจ ตามแบบโครงสร้างความพอเพียง (Sufficiency Paradigm) ดังนี้
หัวใจพอเพียง (Sufficiency Pillar) ต้องมีจุดยอด จุดศูนย์กลาง จุดเริ่มต้นที่ดี (Pinpoint) รู้ว่าดีกับไม่ดี สุจริตกับทุจริต เป็นอย่างไร รวมถึงมีวัตถุประสงค์เป้าหมายเจตนารมณ์ที่ดี ซึ่งตอกย้ำความสำคัญยิ่งของความรู้ความเข้าใจจริงที่ถูกต้องเที่ยงธรรมถ่องแท้ ไม่ใช่แค่ผิวเผิน นั่นคือ ต้องมีความคิดตั้งต้นที่ดี (Good Conception) มีสติปัญญาสัมมาทิฐิเป็นหลักเป็นฐาน เป็นที่ตั้ง เป็นที่มั่นของชีวิต ได้แก่ คิดเป็น พูดเป็น และทำเป็น
กลไกพอเพียง (Sufficiency Platform) ต้องมีสนามเวทีบทบาทภูมิธรรมที่รับรู้สถานภาพสถานการณ์ตามจริง (Playground) พิจารณาทิศทางแนวทางวิถีทางเส้นทางและทางเลือกที่ดีตามสภาพตามอัตภาพ ด้วยการ ดึง-ดัน ลด-เร่ง เลิก-เริ่ม เพื่อดำรงรักษาเสถียรภาพ สมภาพ ดุลยภาพ ควบคู่กับส่งเสริมผลภาพ ประสิทธิภาพและคุณภาพ ตลอดถึงปริตรภาพ กล่าวคือ ดำเนินชีวิตตามโอวาทปาติโมกข์ (Ovada Patimokkha) ได้แก่ ข้อแรก รู้จริงตั้งใจ (Morality) หวังดี-ห่างไม่ดี เชื่อมั่นอย่างเข้าใจ ข้อสอง ทำจริงใส่ใจ (Mindfulness) เร่งรุกเริ่มสิ่งดี-ลดละเลิกสิ่งไม่ดี พากเพียรอย่างตื่นรู้ และข้อสาม รู้แจ้งวางใจ (Mentality) รู้เหตุ-รับผล เรียนรู้อย่างสุขใจ
#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน