Hot Topic!

ปลูกฝังจิตสำนึกอย่างมีหลักการ

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 13,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -

 

คอลัมน์ ต่อต้านคอร์รัปชัน  โดย : รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค

 

ต่อตระกูล: ท่านผู้อ่านที่ได้ติดตามคอลัมน์นี้มานานคงจะเห็นไปในทางเดียวกันว่าคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่รุนแรงและกว้างขวางมากในประเทศไทย และถึงแม้ว่าจะมีความพยายามในการต่อต้านคอร์รัปชันจากภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมอย่างมากมาย โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ก็ยังเหมือนว่าจะไม่มีประสิทธิผลมากพอที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน


แม้ความเห็นต่อสถานการณ์เช่นนี้จะดูน่าท้อแท้ใจ แต่จากที่ผมได้มีโอกาสอ่านความเห็นของหลายๆ ท่านที่ส่งมาทางเฟซบุ๊คของผม หรือ ส่งผ่านกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์แนวหน้ามา ผมกลับมีความหวังอย่างมาก เพราะมีจำนวนมากที่เป็นความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ แนะนำวิธีการที่แต่ละท่านเห็นว่าจะมีประสิทธิภาพและยั่งยืนในการแก้ไขปัญหานี้ ผมจึงได้ประมวลความเห็นเหล่านี้ออกมาวิเคราะห์ พบว่าแนวทางที่ถูกนำเสนอเข้ามามากที่สุดคือคือการพุ่งเป้าหมายไปที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ด้วยการปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกที่ดี ให้เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว มีความซื่อสัตย์ สุจริต


ทั้งนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าแนวทางการปลูกฝังจิตสำนึกให้กับเยาวชนมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิผลและยั่งยืน แต่คำถามที่สำคัญกว่านั้นคือ ทำอย่างไรและทำแค่ไหนจึงจะประสบความสำเร็จตามที่เราหวังไว้ได้


ต่อภัสสร์: ก่อนจะตอบคำถามนั้นได้ ผมขอแสดงสถิติที่เกี่ยวกับแนวทางปลูกฝังจิตสำนึกที่น่าสนใจดังนี้นะครับ ทราบหรือไม่ว่า ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทย โดยหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม จัดโครงการปลูกฝังจิตสำนึกต่างๆ ที่มีการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางกว่า 15 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายปลูกฝังเยาวชนถึง 9 โครงการ ซึ่ง 8 โครงการมุ่งอบรมนักเรียนในสถานศึกษาโดยตรง


จาก 15 โครงการ ที่กล่าวถึงนี้ ถ้านับจำนวนผู้เข้าร่วมโดยคร่าวๆ แล้ว มีมากถึง 3.3 ล้านคน ซึ่งเกือบทั้งหมดผ่านการอบรมสัมมนาระยะยาวหรือการเข้าค่ายด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ร่วมฟังเสวนาสั้นๆ เท่านั้น เมื่อจำแนกตามช่วงอายุก็จะพบว่าในจำนวนผู้ผ่านการอบรมทั้งหมดนี้เป็นเด็กและเยาวชนถึง 3 ล้านคน นั่นหมายความว่า ถ้าโครงการอบรม ปลูกฝังจิตสำนึกต่างๆ เหล่านี้ได้ผลจริง เราก็น่าจะสบายใจกับอนาคตประเทศไทยได้เลย


แต่ความจริงเราวางใจได้แล้วหรือไม่ นี่น่าจะเป็นคำถามที่อยู่ในใจของผู้อ่านหลายๆ ท่านขณะที่อ่านตัวเลขสถิติที่ผมนำเสนอข้างต้นอยู่ ซึ่งก็เป็นคำถามเดียวกันกับในใจผมตอนที่วิเคราะห์สถิตินี้อยู่ เพราะถ้าโครงการต่างๆ เหล่านี้สามารถสร้างผลสัมฤทธิ์ได้ดังที่เขียนไว้ในจุดประสงค์ของโครงการแล้ว ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์น่าจะดีขึ้นกว่านี้ไปเยอะแล้ว ดังนั้นเมื่อคำตอบในใจของพวกเราคือเราคงยังไว้ใจไม่ได้ เพราะโครงการเหล่านี้ยังไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร จึงกลับไปสู่คำถามด้านบนว่า แล้วต้องทำอย่างไรและมากแค่ไหนจึงจะสำเร็จ


กรอบแนวคิดหนึ่งที่สามารถช่วยหาคำตอบได้คือ Habitus ของปิแอร์ บูร์ดิเยอ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ผู้มีอิทธิผลทางความคิดเชิงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาอย่างมากในช่วงทศวรรษ 1970 ที่เสนอว่าลักษณะนิสัย ความรู้สึก และการกระทำของมนุษย์เกิดจากการหล่อหลอมโดยสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ที่ประกอบจากโครงสร้างทางสังคม และ เจตจำนงของแต่ละคนเอง


ดังนั้นจากกรอบแนวคิดดังกล่าว เราจะสามารถหาแบบแผนของโครงสร้างทางสังคมและสิ่งที่ปลูกฝังเจตจำนงของคนที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์ เห็นประโยชน์ของส่วนรวมเหนือประโยชน์ส่วนตน และที่สำคัญมีความตื่นรู้ พร้อมที่จะลงมือสู้โกงได้ ด้วยการหา Habitus ของกลุ่มคนที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน ว่าคนกลุ่มนี้ได้แรงบันดาลใจในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมและคอร์รัปชันในสังคมอย่างไร และเมื่อได้รับแรงบันดาลใจแล้วบุคคลเหล่านี้แปรเปลี่ยนแรงใจของตนให้เป็นแรงกายขับเคลื่อนการทำงานอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร นี่จึงเป็นที่มาของงานวิจัยของผมเรื่อง ใจบันดาลแรง แรงบันดาลใจ โดย SIAM lab ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)


ข้อมูลของงานวิจัยนี้สรุปได้ว่า แรงบันดาลใจเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน มีความครอบคลุมกว้างขวางในเชิงประเด็น และหลากหลายในที่มา โดยจากข้อมูลสัมภาษณ์ในงานวิจัยนี้มีอยู่ 8 ประเด็น ได้แก่ หนึ่ง ผลจากการปลูกฝังในวัยเด็กและแรงกระตุ้นจากประสบการณ์ชีวิต สอง ความสงสัยใคร่รู้และความสนุกในการค้นหาคำตอบส่วนตัว สาม องค์ความรู้หรือแรงกระตุ้นจากการศึกษา สี่ ความรู้และประสบการณ์จากการทำงาน ห้า การตอบรับในเชิงบวกและกำลังใจจากผู้อื่น หก การสนับสนุนและความหวังจากคนรุ่นใหม่ เจ็ด การรับรู้สถานการณ์ความรุนแรงของคอร์รัปชันที่ยังคงอยู่ในประเทศไทย และแปด บุคคลตัวอย่างของความมีคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ความพอเพียง และความมุ่งมั่นที่จะสร้างสิ่งดีๆ ให้แก่สังคม จึงเห็นได้ว่า การปลูกฝังจิตสำนึก ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักของโครงการต่อต้านคอร์รัปชันหลายโครงการนั้น เป็นเพียงแค่ประเด็นหนึ่งในแรงบันดาลใจเหล่านี้เท่านั้น


เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้แล้ว พบว่าสามารถนำไปสู่ข้อแนะสำหรับโครงการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีประสิทธิผลมากขึ้นได้ว่า ควรขยายของเขตประเด็นที่โครงการนั้นสร้างกับผู้เข้าร่วมให้กว้างขวางและครอบคลุมมากขึ้นตามประเด็นแรงบันดาลใจในงานวิจัยนี้ และเพิ่มรูปแบบการรับรู้แรงบันดาลใจเหล่านี้จากกระบวนการต่างๆ ที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถเลือกรับแรงบันดาลใจที่ตนรับรู้ได้เหมาะสมที่สุดมาบันดาลให้เกิดเป็นแรงในการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทยต่อไป


ต่อตระกูล: นั่นหมายความว่า ที่ผ่านมาเราได้เริ่มปูทางสำหรับการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้กับเยาวชนได้แล้ว แต่ยังแคบไปและขาดความต่อเนื่อง การเข้าค่ายอบรมคุณธรรมเพียง 1-2 สัปดาห์ แม้จะมีประโยชน์ แต่ก็ยังไม่มีประสิทธิผลและไม่ยั่งยืน การปลูกฝังเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันนั้น สามารถทำผ่านวิธีการต่างๆ ได้หลากหลายอย่างที่อธิบายมาในข้างต้น และต้องทำอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ยังเด็กจนโตอีกด้วยครับ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw