Hot Topic!

จากหนังจริงที่ UN โกงแล้วแก้

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 06,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -

 

คอลัมน์ ต่อ ต้าน คอร์รัปชัน : โดย ศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค

 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีเพื่อนผมแนะนำภาพยนตร์เรื่องหนึ่งให้ไปชม โดยบอกว่าผมและต่อภัสสร์น่าจะสนใจ มาก เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน เราสองคนจึงหาโอกาสไปดูหนังด้วยกันครั้งแรกในรอบหลายปี พอดูจบเราทั้งคู่คิดทันทีว่าจะ ต้องนำเรื่องนี้มาวิเคราะห์และเขียนลงในบทความนี้ เพราะมีหลายแง่มุม ที่น่าสนใจ และที่สำคัญคือมันสะท้อนสภาพที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ อย่างดี

 

ภาพยนตร์ที่เราไปดูกันมาคือเรื่อง Backstabbing for Beginners หรือ มีชื่อภาษาไทยว่า ล้วงแผน ล่าทรยศ ซึ่งอ้างอิงมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในองค์การสหประชาชาติ (UN) เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว โดยมีเรื่องย่อว่าตัวเอกเป็นเจ้าหน้าที่หนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงที่เพิ่งเข้ามาทำงานที่ UN โดยงานแรกก็ได้ไปเป็นผู้ช่วยพิเศษของรองเลขาธิการ UN ที่มีหน้าที่ดูแลโครงการ Oil for Food หรือ น้ำมันเพื่ออาหาร ที่มีงบประมาณมหาศาล ต่อมาเจ้าหน้าที่หนุ่มคนนี้ ก็ไปพบกับการคอร์รัปชันในโครงการนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหัวหน้าของตนเอง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงและบุคคลสำคัญในรัฐบาลอิรักและรัฐบาลอื่นๆ จึงทำให้เจ้าหน้าที่หนุ่มผู้นี้ต้องตัดสินใจ ครั้งสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ

 

โครงการ Oil for Food นี้เกิดขึ้นหลังจากที่อิรักถูกคว่ำบาตรทางการค้า โดย UN เนื่องจากไปรุกรานประเทศคูเวต ทำให้ประชาชนอิรักที่บริสุทธิ์ต้องรับเคราะห์กรรม ขาดอาหาร ยารักษาโรค และสิ่งจำเป็นเพื่อดำรงชีพ UN จึงเข้าไปควบคุมการขายน้ำมันของอิรัก แล้วนำเงินดังกล่าวมาซื้ออาหาร ยารักษาโรค และสินค้าจำเป็นอื่นๆ เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนอิรัก

 

ที่กล่าวว่าโครงการนี้เกี่ยวข้องกับเงินมหาศาลนั้น มากถึง 53,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท จากรายงานพบว่าเงินจำนวนนี้ถูกนำไปใช้เพื่อซื้ออาหารและสินค้าจำเป็นอื่นๆ เพื่อคนอิรัก 46,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณร้อยละ 87 ของเงินทั้งหมด ที่เหลือส่วนหนึ่งนำไปจ่ายเป็นค่าชดเชยสำหรับชาติที่เข้ามาร่วมทำสงครามอ่าวเปอร์เซีย และอีก 1.2 พันล้านเหรียญเป็นค่าบริหารจัดการโครงการสำหรับ UN เมื่อโครงการนี้ต้องเข้าไปกำกับดูแลเงินงบประมาณมหาศาลเช่นนี้ จึงดึงดูดให้มีคนเข้ามาหาผลประโยชน์จำนวนมาก

 

อย่างไรก็ตาม เพียงแค่แรงจูงใจโดยเงินมหาศาลนั้น ยังไม่เพียงพอที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชันได้ ปัจจัยสำคัญอีกหนึ่งอย่างคือโอกาสในการทุจริต ซึ่งสำหรับโครงการนี้ โอกาสถูกเปิดขึ้นโดย "ความเป็นกรณีพิเศษ" เพราะโดยปกติแล้ว UN เป็นองค์กรที่มีกฎระเบียบ ที่ชัดเจนและเข้มงวดมาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงิน แต่เนื่องด้วยโครงการนี้อยู่ในสถานการณ์พิเศษที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ขั้นตอนบางอย่างจึงถูกลดทอนไป และการตรวจสอบก็ไม่เข้มงวดอย่างปกติ

 

จากแรงจูงใจและการเปิดโอกาส จึงทำให้เกิดการคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง โครงการถูกรุมทึ้งโดยผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย มีการจ่ายสินบนให้คนในรัฐบาลอิรัก ซื้อสินค้าราคาสูงเกินจริง ส่งมอบยาหมดอายุให้โรงพยาบาล แบ่งสัดส่วนอาหารอย่างไม่เป็นธรรมระหว่างกลุ่มต่างๆ ในประเทศ ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือประชาชนอิรักที่บริสุทธิ์ ส่วนผู้ที่เป็นคนสร้างปัญหาอย่างผู้บริหารประเทศกลับได้ประโยชน์มหาศาล

 

เมื่อพระเอกหนุ่มพบความ จริงนี้เข้า สุดท้ายจึงตัดสินใจเอาข้อมูลไปมอบให้แก่สื่อสาธารณะเพื่อเปิดโปงการ คอร์รัปชันนี้ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการโครงการครั้งยิ่งใหญ่ของ UN

 

เมื่อนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงใน UN มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับประเทศไทย จะพบประเด็นที่น่าสนใจมาก 3 ประเด็น ประเด็นแรกคือ การใช้ "ความเป็นกรณีพิเศษ" ในโครงการ ต่างๆ เป็นการเปิดโอกาสการคอร์รัปชัน ซึ่งในอดีตเราจะได้ยินคำว่า "จัดซื้อ จัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ" อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับอุบัติภัยหรือภัยธรรมชาติ ซึ่งวิธีนี้จะลดขึ้นตอนดำเนินงานและลดการตรวจสอบเพื่อช่วยจัดหาสิ่งจำเป็นได้โดยเร่งด่วน แต่นั่นก็เป็นการเปิดโอกาสให้มีการทุจริตได้โดยง่ายขึ้น แม้ใน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ปัจจุบันจะมีการปรับปรุงให้เข้มงวดขึ้นโดยไม่กระทบความเร่งด่วน และเปลี่ยนคำเรียกใหม่เป็น "วิธีเฉพาะเจาะจง" แต่โอกาสเกิดการทุจริตก็ยังมีมากกว่าการจัดซื้อจัดจ้างตามปกติอยู่ ดังนั้นทั้งหน่วยงานตรวจสอบและประชาชน ก็ควรจะให้ความสนใจกับโครงการ เหล่านี้เป็นพิเศษเช่นเดียวกัน และอาจใช้วิธีการตรวจสอบย้อนหลัง เพื่อไม่ปล่อยให้คนที่ทุจริตจากวิธีพิเศษนี้ หลุดพ้นไปได้

 

ประเด็นที่สองคือ การทำหน้าที่ของสื่ออย่างเข้มแข็ง ตามที่หนังเรื่องนี้ดำเนินเรื่องมาจนจบ แสดงให้เห็นว่าสื่อสาธารณะของประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น เป็นเสมือนเครื่องมือไม้ตายที่จัดการ คนโกงได้อย่างราบคาบ แม้จะยิ่งใหญ่เพียงใด ก็ไม่สามารถสู้สื่อที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมาได้ ดังนั้น หากเราต้องการจะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของไทยให้ได้ จะต้องช่วยกันสนับสนุนการและจับตาทำงานของสื่อให้เป็นอิสระและตรงไปตรงมา

 

ประเด็นสุดท้ายคือ ความตื่นรู้พร้อมลงมือสู้โกง ทั้งสำหรับเจ้าหน้าที่หนุ่มผู้นี้ที่ตัดสินใจนำข้อมูลนี้ไปเปิดเผยกับสื่อ แม้อาจเป็นอันตรายต่อตนเองได้ และสำหรับองค์กร UN ที่เมื่อข่าวนี้ถูกเปิดเผยแล้ว ก็ยอมรับและหาทางปรับปรุงแก้ไข ไม่ใช่ปฏิเสธ ไม่ยอมรับความจริง ทำให้ปัญหา ต่างๆ ได้รับการแก้ไข

 

บทเรียนทั้ง 3 ประเด็นจากหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่สิ่งใหม่ที่เพิ่งค้นพบ แต่เป็นสิ่งที่มีการพูดถึงอยู่แล้ว ภาพยนตร์นี้เพียงแต่ตอกย้ำความสำคัญของบทเรียนเหล่านี้ให้เราได้เห็นกันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเรารู้ว่าการโกงยังมีอยู่ในไทย เราจะปล่อยมันไปเรื่อยๆ หรือเราจะเข้าไปแก้ไขเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้ ก็อยู่ที่พวกเราทุกคนนะครับ 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw