Hot Topic!
ความท้าทายของระบบราชการ
โดย ACT โพสเมื่อ May 30,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก โพสต์ทูเดย์ - -
บ้านเรานั้นองค์กรที่ใหญ่ที่สุดและแข็งแกร่งที่สุดคือ องค์กรราชการ หรือที่คนทั่วไปมักจะเรียกกันว่าระบบราชการ
องค์กรราชการนี้มีโครงสร้างหน้าที่และอำนาจที่ชัดเจน มีบุคลากรจำนวนมาก และเป็นองค์กรที่ใช้จ่ายเงินมากที่สุดของประเทศ ดังนี้ องค์กรราชการจึงมีส่วนอย่างสำคัญในการพัฒนาประเทศ
แน่นอน เมื่อมีโครงสร้างขนาดใหญ่ ระบบริหารจัดการภายในย่อมมีความซับซ้อน การขยับขับเคลื่อนในแต่ละเรื่อง จึงทำได้ค่อนข้างช้า เพราะมีกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามมากมาย เพื่อความเป็นเอกภาพของระบบ
ที่น่าสนใจก็คือแทบจะไม่มีการทบทวนกฎระเบียบเหล่านี้ให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปเลย เคยปฏิบัติกันมาอย่างไร ก็ปฏิบัติสืบเนื่องกันต่อๆ ไปอย่างนั้น เพราะความคุ้นชินที่ปฏิบัติกันมานมนาน และความกลัวที่มีต่อการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งความกลัวว่าเมื่อเปลี่ยนแปลงแล้วจะทำให้ความลงตัวหรือความสบายในการปฏิบัติหน้าที่ (Comfort Zone) ที่ตนเคยมีอยู่ต้องหายไป ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบที่ใช้กับองค์กรราชการเองและกฎระเบียบที่ใช้กับพี่น้องประชาชนผู้รับบริการ
และเมื่อมีบุคลากรจำนวนมากก็ย่อมมีทั้งคนดีและไม่ดีเหมือนกับองค์กรอื่น แต่คนไม่ดีซึ่งมีจำนวนไม่มากนี่แหละที่ทำให้คนดีๆ ในระบบราชการส่วนใหญ่ รวมทั้งตัวระบบเองต้องพลอยเสียชื่อเสียงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือทุจริต หรือแม้กระทั่งการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะที่เรียกกันว่าทำราชการเป็นงานไซด์ไลน์หรือไม่ก็นั่งอยู่ที่ทำงานแต่ไม่ทำอะไรนอกจากหายใจทิ้งไปวันๆ
ส่วนการใช้จ่าย ถ้าการใช้จ่ายของระบบราชการมีความทันสมัยและเปิดเผยโปร่งใส ก็จะช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด ทั้งยังช่วยลดการทุจริตและประพฤติมิชอบได้ด้วย
สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ "ความเชื่อมั่น" ของพี่น้องประชาชนต่อองค์กรราชการที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ของประเทศกลับลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ จนบางท่านถึงกับออกปากว่าองค์กรราชการปัจจุบันเป็น Unchanged Agent หรือองค์กรที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสียมากกว่า
รัฐธรรมนูญ 2560 ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาองค์กรราชการเป็นอย่างมากมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่าการลดความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาการศึกษา กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงความท้าทายในอนาคตที่องค์กรราชการกำลังเผชิญหน้าอยู่เงียบๆ แต่รุนแรง 2 ประการ
ประการแรก ได้แก่ Disruptive Technology ซึ่งทำให้บริบทของโลกเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมากที่ระบบราชการอย่างน้อยต้อง "ตามให้ทัน" เพื่อให้การให้บริการแก่พี่น้องประชาชนเป็นไปโดยมีข้อมูลรองรับชัดเจน ต้องรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในยุคดิจิทัลรวมทั้งมีการเปิดเผยผลการดำเนินงาน ผลผลิต ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้รับทราบ และมีส่วนร่วมในด้านต่างๆ
อีกประการหนึ่ง ได้แก่ การเข้าสู่ Ageing Society อย่างเต็มตัวของประเทศไทย เพราะการเข้าสู่สังคม ผู้สูงวัยจะมีผลกระทบด้านต่างๆ มากมาย ทั้งสภาพครอบครัว สภาพสังคม การจ้างงาน การสาธารณสุข ฯลฯ องค์กรราชการจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ โครงสร้าง อัตรากำลัง และวิธีทำงานอย่างไร จะทำงานร่วมกับท้องถิ่น ชุมชนและอาสาสมัครอย่างไร เรื่องนี้มาแบบเงียบๆ แต่จะส่งผลกระทบต่อองค์กรราชการในอนาคตอย่างมากในไม่ช้า เช่นเดียวกับที่หลายประเทศกำลังประสบอยู่ในขณะนี้
เหล่านี้คือความท้าทายที่องค์กรภาครัฐต้องร่วมกันคิดอ่านหาทางรองรับไว้ เพื่อให้ผู้คนในสังคมในอีกสิบปีหรือยี่สิบปีข้างหน้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ก็อยากชวนคิดครับ
สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ "ความเชื่อมั่น" ของพี่น้องประชาชนต่อองค์กรราชการที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ของประเทศกลับลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ จนบางท่านถึงกับออกปากว่าองค์กรราชการปัจจุบันเป็น Unchanged Agent หรือองค์กรที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสียมากกว่า
#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน